ถ่ายบ่อยเกิดจากอะไร แม้คนส่วนใหญ่อาจเจอกับอาการท้องผูกบ่อยครั้งกว่า ทว่าก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าห้องน้ำเป็นว่าเล่น เพราะอุจจาระบ่อยมากจนเริ่มรู้สึกกังวลใจ
![ขี้บ่อย](https://s359.kapook.com//pagebuilder/2433af80-5dc0-40f9-ac73-43bb65bc9f1d.jpg)
อุจจาระบอกโรคได้ หลายคนคงเคยได้อ่านบทความประมาณนี้กันมาบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วการขับถ่ายที่ไม่ปกติมักจะมีสัญญาณบางอย่างให้เห็น เช่น ถ่ายปนเลือด หรืออุจจาระลีบแบน ทว่าในคนที่อุจจาระบ่อยแต่ไม่ได้ท้องเสียล่ะ กลุ่มนี้จัดว่าระบบขับถ่ายปกติหรือไม่ ลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลยว่าถ่ายบ่อยเกิดจากอะไรได้บ้าง
ถ่ายบ่อยเกิดจากอะไรได้บ้าง
ถ้าไม่ได้เป็นโรค
การถ่ายอุจจาระบ่อยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเรื่องปกติ แต่บางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพได้ เรามาเริ่มจากสาเหตุที่ไม่ใช่โรคกันก่อน
1. กินเยอะกว่าปกติ
![ถ่ายบ่อยเกิดจากอะไร](https://s359.kapook.com//pagebuilder/a0a3e7cf-d50b-408f-bf65-e4cf42d5e886.jpg)
บางวันที่กินอาหารมากกว่าเดิม จัดหนักมื้อใหญ่ มื้อพิเศษจนแน่นท้อง หรือกินอาหารมัน ๆ อาหารเผ็ดเกินไป ในวันนั้นหรือข้ามไปอีกวันอาจขับถ่ายบ่อยกว่าที่เคย ส่วนใหญ่อุจจาระจะมีลักษณะเป็นก้อนปกติ หรืออาจถ่ายเหลวบ้าง แต่มักจะไม่ต้องออกแรงเบ่ง ไม่ปวดบิดหรือเจ็บรูทวารขณะถ่ายร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วการขับถ่ายของคนเราจะไม่เกินวันละ 3 ครั้ง ซึ่งหากถ่ายมากกว่านั้นก็ต้องหาสาเหตุอื่น ๆ กันต่อ
2. กินอาหารกระตุ้นการขับถ่าย
อาหารบางชนิดกระตุ้นการขับถ่ายได้ เช่น อาหารที่มีไฟเบอร์สูงอย่างผัก ผลไม้ ธัญพืช หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นยาระบายอย่างมะขาม กล้วย หรือโยเกิร์ต ซึ่งคนที่ไม่ค่อยได้กินหรือนาน ๆ กินทีก็อาจกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานมากขึ้น ส่งผลให้ขับถ่ายบ่อยครั้งขึ้นตามมา นอกจากนี้การดื่มน้ำเยอะกว่าปกติหรือการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในคนที่ไม่ค่อยได้กินก็อาจทำให้ลำไส้ทำงานเร็วขึ้น กระตุ้นการขับถ่ายให้มากกว่า 1 ครั้งต่อวันได้เช่นกัน
3. การออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าปกติ
การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ไม่น้อย เพราะเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว อวัยวะต่าง ๆ ก็จะทำงานได้มากขึ้น รวมไปถึงการบีบตัวของลำไส้ ดังนั้น หากเริ่มลุกขึ้นมาออกกำลังกาย หรืออยู่ดี ๆ ก็มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าเคย เดินเยอะกว่าที่เคย ในวันนั้นอาจเข้า-ออกห้องน้ำบ่อยเพราะถ่ายหนักครั้งแล้วครั้งเล่าได้เหมือนกัน แต่การขับถ่ายที่เกิดขึ้นก็จะเป็นลักษณะปกติ ไม่มีถ่ายเหลว หรือปวดบิด หรือต้องเบ่งให้ลำบากด้วยนะคะ
4. ร่างกายย่อยสารอาหารบางชนิดได้ไม่ดี
![ท้องเสียหลังกินนม](https://s359.kapook.com//pagebuilder/bddd3ee0-3384-49b2-b1a2-e4cba02128da.jpg)
โดยเฉพาะโปรตีนแล็กโทสในนมที่ร่างกายคนไทยส่วนใหญ่ย่อยไม่ได้ หรือกลูเตนในข้าวสาลีที่กระตุ้นอาการแพ้อาหารในบางคนได้เหมือนกัน ซึ่งเวลากินอาหารกลุ่มนี้เข้าไปก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดอาการปวดท้องหนักอยากขับถ่ายขึ้นมา และมักจะเป็นอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวได้หลายครั้งจนดูเหมือนเป็นคนถ่ายบ่อยกว่าเดิม
5. การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด
เช่น ยาปฏิชีวนะที่อาจทำให้แบคทีเรียในลำไส้ไม่สมดุล, อาหารเสริมวิตามินซี, อาหารเสริมแมกนีเซียม, ยาต้านเศร้า, ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรืออาหารเสริมที่มีส่วนผสม เช่น มะขาม ส้มแขก ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบาย เมื่อรับประทานเข้าไปก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการถ่ายบ่อยได้
6. สภาพจิตใจ
หากรู้สึกเครียด กดดัน หรือวิตกกังวลอะไรมาก ๆ อาการนี้จะกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว ทำให้ปวดถ่ายได้ โดยอาจจะเป็นได้ทั้งถ่ายปกติแต่บ่อยครั้ง หรือถ่ายเหลวคล้ายท้องเสีย ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อืดท้อง แน่นท้อง จากกรดเกินในกระเพาะอาหาร แต่หลังจากขับถ่ายอาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้น รู้สึกโล่งขึ้น
7. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง
![ท้องเสียตอนเป็นเมนส์](https://s359.kapook.com//pagebuilder/918b20ec-192f-423e-b4e7-d3db02161261.jpg)
โดยเฉพาะในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือช่วงตั้งครรภ์ สาว ๆ อาจเจอกับอาการปวดประจำเดือนและท้องเสียก่อนเมนส์มา หรือขับถ่ายบ่อยกว่าปกติได้ เพราะร่างกายจะหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง รวมไปถึงกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้หดตัวถี่ขึ้นนั่นเอง
แต่นอกจากสาเหตุเหล่านี้แล้ว บางเคสของอาการถ่ายบ่อยก็เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย หรือเกิดจากโรคบางโรคได้เหมือนกัน
ถ่ายบ่อยผิดปกติ
บอกโรคอะไรได้บ้าง
การถ่ายอุจจาระบ่อยก็เป็นสัญญาณเบื้องต้นของบางโรคได้เช่นกัน อาทิ
1. ติดเชื้อในลำไส้
![ติดเชื้อในลำไส้ อาหารเป็นพิษ](https://s359.kapook.com//pagebuilder/b9e5bc78-7b53-4ff1-945c-6172d77e96e8.jpg)
อาการถ่ายบ่อย อาจเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ อาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย ส่วนใหญ่จะถ่ายแบบท้องเสีย รู้สึกปวดบิด เสียดท้อง คลื่นไส้ หรือหากรับเชื้อมาเยอะก็อาจมีอาการอาหารเป็นพิษร่วมกับอาเจียนได้เลย
2. ลำไส้แปรปรวน
ถ้ามีอาการท้องเสียบ่อย โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารแล้วมักจะปวดถ่ายทันที ร่วมกับอาการปวดมวนท้อง ท้องอืด และถ่ายมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน อาจต้องสงสัยโรคลำไส้แปรปรวนชนิดท้องเสียเด่น
3. โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) และโรคแผลในลำไส้ใหญ่ (Ulcerative Colitis) ซึ่งลักษณะการขับถ่ายจะถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้องเรื้อรัง หลังถ่ายมีอาการอ่อนเพลียเพราะมักจะถ่ายบ่อยครั้งต่อวัน
4. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
![ไทรอยด์เป็นพิษ](https://s359.kapook.com//pagebuilder/2bfd147f-7732-4501-8955-6b3f4f10d01a.jpg)
ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ร่างกายจะมีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ ระบบย่อยอาหารก็จะทำงานเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้มีอาการถ่ายบ่อย ท้องเสียบ่อย น้ำหนักลดผิดปกติ กินจุแต่ผอม และใจสั่นร่วมด้วย
5. โรคเบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจมีปัญหาในการควบคุมระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของลำไส้ ทำให้เกิดอาการถ่ายบ่อยหรือท้องเสียเรื้อรังได้เช่นกัน
6. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
หากถ่ายบ่อยขึ้นจากที่ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน หรือพบว่าถ่ายปนเลือด ร่วมกับอาการท้องอืดเรื้อรัง ท้องผูกสลับกับท้องเสียมานาน ถ่ายไม่ค่อยสุด อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดผิดปกติ ควรรีบไปตรวจสุขภาพ เพราะอาจเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกสงสัยกันไหมคะว่าความถี่ในการขับถ่ายแบบไหนที่ไม่บ่อยจนเกินไป ว่าแล้วก็มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย
ถ่ายบ่อยอันตรายไหม
แบบไหนไม่จัดว่าเกินไป
![ขี้บ่อยอันตรายไหม](https://s359.kapook.com//pagebuilder/8d79ffde-69c8-444c-b028-f539851bd02b.jpg)
ในทางการแพทย์ยังไม่มีข้อมูลระบุชัดว่าแต่ละวันเราควรถ่ายกี่ครั้ง แต่การอุจจาระ 3 ครั้งต่อวัน หรือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ยังถือว่าปกติ แต่ที่ควรใส่ใจคือความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในการขับถ่ายของตัวเองต่างหาก
ถ่ายบ่อยแบบไหนต้องใส่ใจ
ควรรีบไปตรวจสุขภาพ
การขับถ่ายผิดปกติที่ว่า เช็กจากสัญญาณดังต่อไปนี้ได้เลย
- จำนวนครั้งในการถ่ายอุจจาระเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างเห็นได้ชัด
- ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนแปลงไป เช่น อุจจาระเหลวขึ้น อุจจาระเรียวเล็กกว่าเดิม มีมูกเลือดปน หรือมีสีดำคล้ำ
- มีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด อ่อนแรง มีไข้
ถ่ายบ่อยจนเพลียใจ
ป้องกันได้ไหมอาการนี้
![อุจจาระบ่อยป้องกันได้ไหม](https://s359.kapook.com//pagebuilder/cf958c59-8f21-4379-a29f-105c710b13fd.jpg)
ถ้าถ่ายบ่อยจนรู้สึกเหนื่อยกับการเข้าห้องน้ำของตัวเอง ลองทำตามนี้ดู
- รับประทานอาหารที่สะอาดและถูกสุขอนามัย ถือคติปรุงร้อน ช้อนกลาง ล้างมือทุกครั้งที่จะรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ไม่กินจนอิ่มมากเกินไป หรือไม่กินอาหารมื้อใหญ่บ่อย ๆ
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลองสังเกตตัวเองดูว่ากินอะไรเข้าไปแล้วถ่ายบ่อย ถ้าเจอแล้วก็ลองงดอาหารประเภทนั้นเพื่อเช็กอาการอีกที หรือเลี่ยงไปเลยก็ดี
- หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการ เช่น อาหารมันจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนม รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- พยายามทำให้จิตใจผ่องใส ลดความเครียด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารไปด้วย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานเป็นปกติและมีประสิทธิภาพ
ความถี่ในการถ่ายอุจจาระของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนถ่ายวันละครั้ง บางคนถ่ายวันเว้นวัน หรือบางคนถ่ายหลายครั้งต่อวัน ถ้าไม่มีสัญญาณผิดปกติก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากพบเจอความผิดปกติใด ๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัดและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่าย
- กินข้าวแล้วปวดท้องหนักทันที กินปุ๊บ ถ่ายปั๊บ อาการนี้ผิดปกติไหม
- เช็กอาการถ่ายเป็นเลือด เราเสี่ยง 11 โรคนี้หรือเปล่า
- ท้องเสียบ่อย เช็กหน่อย...ป่วยเป็นอะไรได้บ้าง
- ท้องอืด อึดอัด ไม่ถนัดขับถ่าย อาจเสี่ยงอุจจาระอุดตันในลำไส้ หรือ โรคขี้เต็มท้อง
- 10 สูตรระบายท้องทำง่าย ช่วยถ่ายคล่อง แก้ท้องผูกได้อยู่หมัด !
ขอบคุณข้อมูลจาก : Health online by หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ, โรงพยาบาลเพชรเวช, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, my.clevelandclinic.org, medicalnewstoday.com