เกล็ดเลือดต่ำเกิดจากอะไร กินอะไรช่วยเพิ่มเกล็ดเลือดได้บ้าง

          เกล็ดเลือดต่ำอันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้างนอกจากไข้เลือดออก เรามาอ่านกันดีกว่าว่าเกล็ดเลือดต่ำคือเท่าไร แล้วมีอาหารเพิ่มเกล็ดเลือดให้ร่างกายบ้างหรือเปล่า

เกล็ดเลือดต่ำ

          อย่างที่เรารู้กันว่าโรคไข้เลือดออกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ และหากรักษาไข้เลือดออกไม่ทันก็เสี่ยงเสียชีวิตได้ แต่นอกจากไข้เลือดออกแล้ว เรายังเสี่ยงมีเกล็ดเลือดต่ำ  (Thrombocytopenia) ได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งวันนี้เราจะพามารู้จักภาวะเกล็ดเลือดต่ำว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วเราจะมีวิธีเพิ่มเกล็ดเลือดได้ไหม

เกล็ดเลือด คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร


          เกล็ดเลือด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Platelet เกล็ดเลือดคือเซลล์เม็ดเลือดชนิดหนึ่ง ที่ช่วยทำให้เลือดแข็งเป็นลิ่ม มีหน้าที่สำคัญในการห้ามเลือดเมื่อเนื้อเยื่อเกิดบาดแผล ช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือดเวลาถูกของมีคมบาด ดังนั้นหากเกล็ดเลือดต่ำก็อาจทำให้มีปัญหาเลือดออกง่าย หยุดยาก เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วเกล็ดเลือดแต่ละเกล็ดจะมีอายุไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 7-10 วัน เมื่อหมดอายุก็จะถูกกำจัดออกไปเพื่อให้ไขกระดูกสร้างขึ้นมาใหม่เรื่อย ๆ ตลอดชีวิต

เกล็ดเลือดต่ำ คือเท่าไร


          โดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีเกล็ดเลือดประมาณ 150,000-450,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ดังนั้นหากร่างกายมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 150,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จะถือว่ามีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งถ้าเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อยอาจไม่มีอาการแสดงมาก ทว่าหากเกล็ดเลือดต่ำมาก ๆ ร่างกายจะเริ่มมีความผิดปกติ

เกล็ดเลือดต่ำ

เกล็ดเลือดต่ำ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

 


          สาเหตุที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน โดยสามารถจำแนกออกเป็นสาเหตุหลัก ๆ ได้ ดังนี้

     1. ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดไม่เพียงพอ อันเกิดจาก...


          - โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ ที่ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดได้เพียงพอ

          - โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง อันเป็นสาเหตุให้ไขกระดูกและสเต็มเซลล์ของเกล็ดเลือดถูกทำลาย

          - โรคทางพันธุกรรม เช่น ภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง เป็นต้น

          - การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเดงกี สาเหตุของโรคไข้เลือดออก หรือเชื้อไวรัสอีสุกอีใส คางทูม หัดเยอรมัน เป็นต้น

          - การรักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายรังสี หรือการใช้เคมีบำบัด

          - การใช้ยาบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคลอแรมเฟนิคอล หรือยาแอสไพริน เป็นต้น

          - การขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 โฟเลต และธาตุเหล็ก

          - การได้รับสารเคมีบางชนิด ที่อาจไปขัดขวางการสร้างเกล็ดเลือด เช่น เบนซิน สารกำจัดศัตรูพืช หรือสารหนู เป็นต้น

          - พฤติกรรมติดแอลกอฮอล์ ที่จะส่งผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด

เกล็ดเลือดต่ำ

     2. เกล็ดเลือดถูกทำลายหรือถูกใช้ไปมาก อันเกิดจาก...


          - โรคภูมิแพ้ตนเอง ซึ่งแทนที่ภูมิต้านทานจะกำจัดเชื้อไวรัสและเชื้อโรค กลับมาทำลายเกล็ดเลือดแทน ทำให้เกล็ดเลือดต่ำลง และอาจเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) โรคลูปัส (Lupus) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

          -  การติดเชื้อแบคทีเรียในเลือด หรือเชื้อไวรัสชนิดโมโนนิวคลิโอสิส หรือไซโตเมกาโลไวรัส เป็นต้น

          - การใช้ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ ยารักษาโรคมาลาเรีย หรือยาที่ใช้รักษาวัณโรค

          - การผ่าตัดใหญ่ ซึ่งอาจทำให้เกล็ดเลือดถูกใช้ไปสมานแผลเป็นจำนวนมาก

          - ภาวะเกล็ดเลือดต่ำในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะพบได้ร้อยละ 5 โดยที่ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่พบ

          - ภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั่วร่างกาย (Thrombotic Thrombocytopenic Purpura)

          - ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน  (Immune Thrombocytopenic Purpura : ITP)  เป็นโรคเลือดออกง่ายจากเกล็ดเลือดที่มีจำนวนลดลงอย่างเดียว (isolated thrombocytopenia) จัดเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันเกิน พบได้บ่อยทั้งในเด็ก-ผู้ใหญ่ ผู้ป่วยจะมีเลือดออกง่าย หยุดยาก หากรุนแรงจะมีเลือดออกในอวัยวะสำคัญซึ่งอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้


     3. เกล็ดเลือดถูกกักอยู่ในม้ามมากเกินไป

 


          ปกติแล้วม้ามจะเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ขจัดเชื้อโรคและเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้ว และม้ามจะกักเก็บเกล็ดเลือดไว้ประมาณ 1 ใน 3 ของร่างกาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายมีการติดเชื้ออะไรสักอย่าง ม้ามจะกักเก็บเกล็ดเลือดไว้มากขึ้น ทำให้ม้ามโตได้

เกล็ดเลือดต่ำ อาการเป็นอย่างไร


เกล็ดเลือดต่ำ

          อาการเกล็ดเลือดต่ำที่สังเกตได้ชัด ๆ สามารถเช็กได้จากตรงนี้

               * มีรอยช้ำตามตัว เป็นจุดเลือดออกแดง ๆ เล็ก ๆ หรือเป็นจ้ำเลือดตามร่างกายหลายจุด
              
               * หากถูกของมีคมบาด แม้เพียงแผลเล็กนิดเดียว เลือดจะไหลเป็นจำนวนมากและเลือดไม่หยุดไหลง่าย ๆ

               * เลือดกำเดาไหลบ่อย

               * เลือดออกตามไรฟันบ่อย

               * ปัสสาวะเป็นเลือด

               * อุจจาระเป็นเลือด

               * ประจำเดือนมามากผิดปกติ

               * มีภาวะซีด อ่อนเพลียง่าย

               * ม้ามโต

               * มีภาวะดีซ่าน

เกล็ดเลือดต่ำ อันตรายไหม


          ในกรณีที่เกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อย จากการติดเชื้อหรืออาการป่วยที่ไม่ร้ายแรง อาการอาจไม่รุนแรงและเพียงไม่นานร่างกายจะสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมาทดแทนได้ ทว่าหากเกล็ดเลือดต่ำจากการที่ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มไม่ได้ หรือมีสาเหตุที่ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายเรื่อย ๆ จนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในร่างกาย และหากเกล็ดเลือดเหลือน้อยกว่า 20,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ก็อาจทำให้เลือดออกในร่างกายได้โดยไม่มีบาดแผล และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับเกล็ดเลือดทดแทน

เกล็ดเลือดต่ำ

เกล็ดเลือดต่ำ รักษาได้ไหม


          ภาวะเกล็ดเลือดต่ำมีวิธีรักษาอยู่ค่ะ โดยแพทย์อาจจะเลือกวิธีรักษาเกล็ดเลือดต่ำ ตามนี้

1. รักษาด้วยยา

          แพทย์จะวินิจฉัยจากสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น หากเกิดจากเกล็ดเลือดถูกทำลาย ก็อาจใช้ยาที่ช่วยยับยั้งการทำลายเกล็ดเลือด หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง ก็อาจใช้ยาที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ส่วนในเคสที่ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดได้ไม่เหมือนเดิม แพทย์ก็อาจให้ยากระตุ้นให้ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การเลือกใช้ยารักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ด้วยค่ะ

 2. รักษาด้วยการให้เลือดและเกล็ดเลือด

          ในเคสที่ผู้ป่วยมีเลือดออก หรือเสียเลือดมาก แพทย์ก็จะให้เลือดและเกล็ดเลือดเพื่อทดแทนในส่วนที่สูญเสียไป

3. รักษาด้วยการตัดม้าม

          กรณีที่ร่างกายมีการทำลายเกล็ดเลือดมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัดม้าม เพื่อยับยั้งการทำลายเกล็ดเลือดในร่างกาย

เกล็ดเลือดต่ำ ดูแลตัวเองยังไงดี


เกล็ดเลือดต่ำ

         หากตรวจพบว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ก็ควรดูแลตัวเอง ดังนี้

               - ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

               - หากกินยาอะไรอยู่เป็นประจำ ควรแจ้งแพทย์ด้วย เพราะยาบางชนิดอาจมีผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด ซึ่งแพทย์อาจให้เปลี่ยนยา

               - หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก การปะทะแรง ๆ เช่น ฟุตบอล มวย รักบี้ เป็นต้น

               - พยายามรักษาเนื้อรักษาตัวให้ห่างไกลจากเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะมีเลือดออกทุกชนิด

               - งดดื่มแอลกอฮอล์

               - ออกไปรับแสงแดดตอนเช้าบ้าง เพื่อให้ร่างกายสร้างวิตามินดี

               - หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมี เช่น เบนซิน สารหนู หรือสารกำจัดศัตรูพืช

               - ควรแจ้งแพทย์ว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ก่อนเข้ารับหัตถการใด ๆ เช่น ทำฟัน ฉีดยา หรือผ่าตัด

อาหารเพิ่มเกล็ดเลือด มีอะไรบ้าง ต้องกินอะไรบำรุง


          กินอะไรเพิ่มเกล็ดเลือดได้บ้าง เรามาดูกันค่ะ

1. น้ำคั้นใบมะละกอสด

 


เกล็ดเลือดต่ำ

          นพ.สมยศ กิตติมั่นคง และ ดร. ทนพ.กิตติพงษ์ เกิดฤทธิ์ ได้ให้ข้อมูลไว้ในวารสารกรมการแพทย์ ว่า มีงานวิจัยในต่างประเทศให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกดื่มน้ำคั้นใบมะละกอสดขนาด 30 ซี.ซี. วันละ 2 ครั้ง และพบว่า น้ำคั้นใบมะละกอสดช่วยเพิ่มระดับเกล็ดเลือดได้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยวิธีทำใบคั้นใบมะละกอสดให้ใช้ใบมะละกอพันธุ์ใดก็ได้ 1-2 ใบ ล้างให้สะอาด แล้วนำใบมะละกอมาบดละเอียดเพื่อคั้นน้ำ จากนั้นเติมน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อดับความขม แล้วดื่มติดต่อกัน 3-5 วัน อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน เพราะอาจไม่เหมาะกับบางโรค

2. ต้นอ่อนข้าวสาลี


          งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร The International Journal of Universal Pharmacy และ Life Sciences ฉบับปี 2011 พบว่า ต้นอ่อนข้าวสาลีช่วยเพิ่มเกล็ดเลือดได้ และอาจช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดแดง ฮีโมโกลบิน และเม็ดเลือดขาว เพราะต้นอ่อนข้าวสาลีอุดมไปด้วยคลอโรฟิลล์ ซึ่งมีโมเลกุลคล้ายฮีโมโกลบิน

3. ทับทิม


เกล็ดเลือดต่ำ

          มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า ทับทิมช่วยเพิ่มการสร้างเกล็ดเลือดได้ เพราะเมล็ดทับทิมอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมาย ในขณะที่สารต้านอนุมูลอิสระสูง มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบในร่างกาย และยังมีสรรพคุณกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกด้วย

          - ประโยชน์ของทับทิม ผลไม้คุณค่าสูงยิ่ง ป้องกันได้หลายโรค

4. น้ำมันปลา


          The Thunder Bay Regional Health Center แนะนำให้กินอาหารที่มีโปรตีนสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้ และการศึกษาหนึ่งก็พบว่า น้ำมันปลา นอกจากจะมีโปรตีนสูงแล้วยังมีสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้ และคนที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำควรกินน้ำมันปลาเลยล่ะค่ะ

5. ฟักทอง


เกล็ดเลือดต่ำ

          ฟักทองมีวิตามินเอสูง ซึ่งวิตามินเอมีส่วนช่วยซัพพอร์ตการสร้างเกล็ดเลือด และในฟักทองเองก็มีโปรตีนอยู่พอสมควร ซึ่งก็จะช่วยกันผลักดันการสร้างเกล็ดเลือดของร่างกายด้วย

          - ฟักทอง เต็มเปี่ยมด้วยประโยชน์

6. อาหารที่มีวิตามินซีสูง


          วิตามินซีเป็นสารอาหารสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้เช่นกัน

          - 10 ผลไม้ให้วิตามินซีสูงปรี๊ด สกัดหวัด เสริมภูมิคุ้มกัน

7. ผักใบเขียว


เกล็ดเลือดต่ำ

          ผักใบเขียวอย่างคะน้า ผักโขม กวางตุ้ง ผักบุ้ง จะมีวิตามินเคค่อนข้างสูง ซึ่งวิตามินเคมีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือด และอาจช่วยกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดได้ด้วย

8. มะขามป้อม


          การศึกษาในเรื่องโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ได้ทำการทดลองให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกดื่มน้ำมะขามป้อม และพบว่า น้ำมะขามป้อมมีส่วนช่วยเพิ่มการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้ นั่นอาจเป็นเพราะมะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมากก็เป็นได้


เกล็ดเลือดต่ำ

          การศึกษาหนึ่งพบว่า การรับประทานแครอตและบีทรูตในปริมาณ 1 ถ้วยตวง อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือดในร่างกายได้

          - 10 ประโยชน์ของแครอต มีดีที่ต้องทาน

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดก่อนนะคะ และไม่ควรเน้นรับประทานอาหารเพิ่มเกล็ดเลือดประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป เพราะอาหารบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อบางโรคได้เช่นกัน

เกล็ดเลือดต่ำ ป้องกันได้ไหม


          แม้ในบางเคสเราจะไม่สามารถป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ เนื่องจากเป็นหนึ่งในอาการของโรคที่เป็นอยู่ แต่ในคนที่ไม่ได้ป่วย ก็สามารถป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ ดังนี้

          * พยายามดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก

          * รักษาเนื้อรักษาตัวให้พ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่อาจส่งผลต่อการสร้างเกล็ดเลือดได้

          * หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะ สารหนู ยาฆ่าแมลง และเบนซิน

          * พยายามไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          * รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

          * หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากพบว่าเลือดออกง่ายผิดปกติ หรือมีรอยช้ำไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์

          ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะไม่อันตรายถึงชีวิต หากเรารู้เท่าทันอาการและเข้ารับการรักษาได้ทัน ดังนั้นอย่าลืมใส่ใจสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้องกับเกล็ดเลือด

          - กรุ๊ปเลือดบี กับปัญหาสุขภาพเหล่านี้ ที่อาจเสี่ยงกว่ากรุ๊ปเลือดอื่น
          - กรุ๊ปเลือด O เช็กให้ไว เราเสี่ยงป่วยโรคอะไรมากกว่าหมู่เลือดอื่น
          - อาหารธาตุเหล็กสูง สำหรับคนกินเจ มังสวิรัติ มีอะไรบ้าง กินอย่างไรช่วยบำรุงเลือด
          - 15 ผักที่มีธาตุเหล็กสูง เป็นผักบำรุงเลือด เพื่อสุขภาพ
          - 15 สัญญาณว่าร่างกายขาดธาตุเหล็ก ที่สาว ๆ ต้องเช็กก่อนจะป่วย !
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เกล็ดเลือดต่ำเกิดจากอะไร กินอะไรช่วยเพิ่มเกล็ดเลือดได้บ้าง อัปเดตล่าสุด 26 กรกฎาคม 2566 เวลา 08:15:31 535,898 อ่าน
TOP
x close