สำหรับประเด็นนี้ ทางสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด และการใช้ยารักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 สรุปได้ว่า ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ ดังนั้น ยาเหล่านี้รับประทานได้ตามปกติ
ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่
- ยากลุ่ม Acetaminophen เช่น พาราเซตามอล
- ยากลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
- ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และคาเฟอีน เช่น Cafergot, Tofago
- ยาในกลุ่มทริปแทน เช่น Relpax, Siagran
ยาป้องกันไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่
- ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid
- ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Amitriptyline, Venlafaxine
- ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม เช่น Flunarizine
- ยาในกลุ่มต้านเบต้า เช่น Propranolol
- ยาป้องกันไมเกรนชนิดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้ เนื่องจากอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ซึ่งมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อาการชา หรืออาการอ่อนแรง จากการรวบรวมกรณีศึกษาต่าง ๆ ยังไม่พบว่ามีความผิดปกติจากการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI Brain) และการตรวจหลอดเลือดในสมอง (MRA หรือ CTA) อย่างชัดเจน ดังนั้น อาการดังกล่าวเกิดจากการตอบสนองของร่างกายจากการฉีดวัดซีน ซึ่งเกิดได้กับวัคซีนทุกชนิด และเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่กังวลใจ และต้องการหยุดยาแก้ปวดไมเกรนหรือยาป้องกันไมเกรน ให้ปรึกษาแพทย์ที่รักษา เพื่อวางแผนในการฉีดวัคซีนโควิด และแนะนำอาการของโรคปวดศีรษะไมเกรนที่อาจจะเกิดขึ้น
- สำรวจยาแก้ปวดและยาป้องกันอาการปวดศีรษะว่ามีเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากช่วงโควิดระบาดอาจมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง จึงควรติดต่อแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อสำรองยาให้เพียงพอ
- หมั่นออกกำลังกายที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอาการปวดศีรษะ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ขนมปัง ชีส ผลไม้ตระกูลส้ม เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่จะกระตุ้นอาการปวดศีรษะไมเกรนให้กำเริบ เช่น ความเครียด การนอนไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา เป็นต้น
- ในวันที่ฉีดวัคซีน ให้ดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานอาหารให้เพียงพอ
- เนื่องจากในสถานที่ฉีดวัคซีนอาจมีสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะกำเริบ เช่น อากาศร้อน ความแออัด ความเครียด เสียงดัง ซึ่งอาจทำให้อาการปวดศีรษะกำเริบได้ ให้เตรียมยาแก้ปวดไมเกรนไปด้วย หากมีอาการสามารถรับประทานได้
ภายหลังการฉีดวัคซีน หากมีอาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดขึ้นก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนได้ โดยในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะน้อยหรือปานกลางให้เลือกใช้ยาในกลุ่ม Acetaminophen หรือ NSAIDs
แต่หากมีอาการปวดศีรษะปานกลางหรือรุนแรง ให้เลือกใช้ยาแก้ปวดที่จำเพาะต่อไมเกรน ได้แก่ ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และคาเฟอีน หรือยาในกลุ่มทริปแทน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่เคยรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน โดยเฉพาะในกลุ่ม Ergotamine และทริปแทน อาจต้องระวังอาการผลข้างเคียงจากยาซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการใจสั่น และอาการชา
บทความที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19
- ก่อนฉีดวัคซีนโควิดต้องเตรียมตัวอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง
- กินยาคุมฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม จะเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน หรือต้องหยุดยาก่อนหรือเปล่า ?
- ความดันสูง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม สรุปชัด ๆ ข้อปฏิบัติก่อน-หลังฉีดวัคซีน
- งดกาแฟก่อนฉีดวัคซีนโควิด จำเป็นแค่ไหน ต้องงดดื่มหรือไม่กันแน่
- เช็กให้พร้อม ! ต้องทำอะไรบ้างในวันนัดฉีดวัคซีนโควิด 19
- เช็กอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด แบบไหนหายเองได้ หรืออันตรายต้องรีบหาหมอ !
- 12 วิธีดูแลตัวเองหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ห้ามกินอะไรบ้าง
ขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย (1), (2)
เฟซบุ๊ก นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ระบบประสาท
เฟซบุ๊ก Smile Migraine