คลื่นไส้ พะอืดพะอม เวียนหัว หรือบางคนก็อาเจียนตอนเช้า ทำให้เป็นวันป่วย ๆ ไปทั้งวัน เช็กเลยว่าอาการนี้ต้องสงสัยโรคไหนได้บ้าง
คลื่นไส้ เป็นหนึ่งในอาการป่วยที่สร้างความทรมานให้ร่างกายไม่น้อย เพราะจะรู้สึกพะอืดพะอม หรือบางคนอาเจียนเลยก็มี และหากมีอาการนี้ในทุกเช้า หลังตื่นนอน จะอันตรายไหม หรือเราป่วยโรคอะไรอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่อยากกังวลใจไปเรื่อย ๆ แบบนี้ มาลองเช็กคร่าว ๆ กันเลยว่า อาการเวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอมตอนเช้า เกิดจากอะไร และมีวิธีแก้คลื่นไส้ที่เราพอบรรเทาอาการด้วยตัวเองไหม
คลื่นไส้ พะอืดพะอมในตอนเช้า จากสาเหตุที่ไม่ใช่โรค
อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมตอนเช้า เป็นอาการที่พบได้บ่อยแม้จะไม่มีโรคที่ต้องสงสัยซ่อนอยู่ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
- ร่างกายขาดน้ำ เพราะเรานอนหลับหลายชั่วโมงติดต่อกัน เวลาตื่นมาจึงอาจรู้สึกกระหายน้ำมาก ๆ และบางคนที่ขาดน้ำมาก ๆ อาจรู้สึกพะอืดพะอมได้ด้วย
- อาการท้องว่าง ความหิวจัด ๆ จากการลดน้ำหนักแบบอดอาหาร หรือการทำ IF และการมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจนำมาซึ่งอาการคลื่นไส้ในตอนเช้าได้เหมือนกัน
- กินอาหารมื้อหนัก ย่อยยาก ก่อนเข้านอน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกแน่นท้อง อึดอัด พะอืดพะอมในตอนเช้า
- อาการท้องผูก ที่อาจทำให้สารอาหารที่กินเข้าไปแต่ไม่ได้ขับถ่ายหมักหมมจนเกิดแก๊ส ส่งผลให้รู้สึกท้องอืด อึดอัด เรอ พะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหารได้ในบางคน
- การรับประทานมื้อเช้าเร็วเกินไป หรือดื่มน้ำอัดลมแบบเร็ว ๆ ซึ่งอาจทำให้มีกรดแก๊สในกระเพาะมาก จนรู้สึกจุกแน่น พะอืดพะอม คลื่นไส้ได้
- อ่อนเพลีย การพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนไม่หลับ หรือการสับเปลี่ยนเวลานอน เช่น เข้างานกะกลางคืน เลยต้องเปลี่ยนมานอนตอนกลางวัน เป็นต้น
- อาการถอนคาเฟอีน ในคนที่ติดกินกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหนัก ๆ หากไม่ได้กิน หรืองดคาเฟอีนในทันที อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ พะอืดพะอม คลื่นไส้ได้
- การดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกิดอาการแฮงก์ ซึ่งมักจะมีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้หลังตื่นนอน พร้อมอาการปวดศีรษะ
- เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน จนเกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ ยิ่งใครเดินทางตอนเช้าและท้องยังว่างก็ยิ่งเสี่ยงมีอาการนี้เพิ่มขึ้น
- การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัย สกปรก มีกลิ่นเหม็นฉุน กลิ่นคาวที่รุนแรง
- ความเครียด ความวิตกังวล ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะแสดงออกผ่านอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ หรือบางครั้งก็อาจอาเจียนออกมาเลย โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารเช้า หรืออาหารมื้ออื่น ๆ และมักจะมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย
- แพ้ท้อง ซึ่งมักจะรู้สึกคลื่นไส้ตอนเช้า ร่วมกับประจำเดือนขาด เต้านมโต แข็งคัด
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือการกินยาผิดเวลา เช่น กินยาหลังอาหารตอนท้องว่าง เป็นต้น
คลื่นไส้ พะอืดพะอมในตอนเช้า จากโรคที่ซ่อนอยู่
นอกเหนือจากสาเหตุข้างต้นแล้ว อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม เวียนหัว ยังเกิดจากโรคหรือภาวะความผิดปกติของร่างกายได้ด้วย เช่น
1. อาหารเป็นพิษ
หากกินอาหารมื้อพิเศษ หรือเมนูแปลก ๆ หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคในมื้อเย็น ตอนเช้าอาจตื่นมาเจอกับอาการอาหารเป็นพิษ ที่ทั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับท้องเสียหลาย ๆ ครั้งได้
2. ไซนัสอักเสบ
อาการไซนัสจะทำให้ความดันในหูเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเส้นประสาทที่หูชั้นใน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทรงตัวและการได้ยิน บางคนที่เป็นไซนัสอักเสบจึงมีอาการวิงเวียน ชวนให้คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจได้ยินเสียงดังในหูได้ด้วย
3. กรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนเกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหาร ซึ่งอาการมักจะกำเริบเมื่อเอนตัวลงนอน โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่จัดเต็ม ทำให้มีอาการแสบร้อนกลางอก เรอ จุกเสียดแน่น เจ็บลิ้นปี่ พะอืดพะอม คลื่นไส้ ทว่าในคนที่เป็นกรดไหลย้อนก็อาจเจออาการเหล่านี้หลังตื่นนอนได้เหมือนกัน หรืออาจมีอาการไอหนัก ๆ และเสียงแหบร่วมด้วย
4. กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
มักจะมีอาการปวดท้องด้านซ้ายส่วนบน ปวดเสียด ๆ ตื้อ ๆ จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ เป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีกรดแก๊สในกระเพาะเยอะ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งตอนท้องว่าง หรือก่อนและหลังรับประทานอาหาร และมักจะเป็นอยู่เรื่อย ๆ หายแล้วก็กลับมาเป็นใหม่ได้
5. ภาวะกระเพาะอาหารบีบตัวช้า
อาการที่เกิดจากกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องทำงานช้าลงหรือหยุดทำงานไป ส่งผลให้อาหารตกค้างอยู่ในส่วนกระเพาะอาหาร ไม่เคลื่อนตัวมาที่ลำไส้ตามเวลาปกติ ผู้ป่วยจึงมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เป็นอาการเด่น
6. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า โรคมีเนีย (Meniere’s disease) อันเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ทำให้ระดับน้ำในหูชั้นในไหลเวียนผิดปกติไป จนส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและการได้ยินของเรา ดังนั้นคนที่เป็นโรคนี้ก็อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน มีเสียงดังในหู ทรงตัวลำบาก ซึ่งอาการอาจเป็นในช่วงเวลาไหนก็ได้ ไม่สามารถคาดเดาได้เลย
7. ไมเกรน
อาการคลื่นไส้ เวียนหัว พะอืดพะอม เป็นอาการแสดงเบื้องต้นของโรคไมเกรน ดังนั้นกับคนที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว ก็อาจมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม หรือเวียนศีรษะ ตั้งแต่ตื่นนอนได้
8. โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์
จริง ๆ แล้วเป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่หากเป็นก็อาจกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ เพราะโรคนี้จะปวดหัวค่อนข้างรุนแรง ครั้งละ 15 นาที - 3 ชั่วโมง ร่วมกับปวดกระบอกตา ขมับ หรือหน้าผาก มีน้ำมูกไหล น้ำตาไหล ตาแดง หน้าบวม หนังตาตก หรือม่านตาหดเล็ก วิงเวียน คลื่นไส้ และมักจะมีอาการในช่วงเวลาเดิม ๆ หรือในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปี
9. นิ่วในถุงน้ำดี
อาการคลื่นไส้ อาเจียนบ่อย ๆ พร้อมกับอาการปวดท้องส่วนบน ๆ ข้างขวา อาจเป็นสัญญาณของโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ค่ะ ยิ่งหากสังเกตตัวเองและพบว่ามีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนมีลมในท้อง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก ยิ่งต้องระวังโรคนี้ไว้เลย
10. ถุงน้ำดีอักเสบ
หากถุงน้ำดีเกิดการอักเสบ อาจมีอาการปวดท้องข้างขวา แถว ๆ ใต้ชายโครงขวา และบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับมีไข้สูงเฉียบพลัน
11. ภาวะคลื่นไส้ หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร
ในคนที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดกระเพาะอาหาร อาจมีอาการข้างเคียงเป็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอมได้ง่าย แม้จะเพิ่งตื่นนอนหรือยังไม่ได้รับประทานอาหารใด ๆ เข้าไป โดยอาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง และสามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
12. อาการลงแดง (Alcohol Withdrawal Syndrome)
หรือในทางการแพทย์เรียกว่า กลุ่มอาการขาดแอลกอฮอล์ หลังจากหยุดดื่มหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์อย่างทันที โดยอาการนี้จะเกิดได้กับคนที่ดื่มหนัก ๆ มาตลอด ดังนั้นเมื่อหยุดดื่มหรือลดปริมาณการดื่ม ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดก็จะลดลงฉับพลัน ก่อให้เกิดอาการกระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ สั่น เหงื่อออกมาก วิตกกังวล หวาดกลัว หรือมีอาการประสาทหลอนได้ โดยอาการมักจะเริ่มเป็นหลังขาดแอลกอฮอล์ทันที และอาจมีอาการรุนแรงสุดในวันที่ 2 จากนั้นจะค่อย ๆ บรรเทาลงในวันที่ 4 หรือ 5 แต่จะเป็นอยู่เรื่อย ๆ ไปจน 3-5 เดือน หลังจากหยุดหรือลดการดื่ม
13. ไตวาย
เมื่อไตทำงานได้ไม่เต็มที่ ของเสียก็จะคั่งอยู่ในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยไตวายมีอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้ ร่วมกับมีอาการแขน ขา หน้า หรือบวมไปทั้งตัว อ่อนเพลีย และอาจอาเจียนบ่อย ๆ ในตอนเช้า ซึ่งหากดูแล้วมีอาการคล้าย ๆ แบบนี้ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนนะคะ เพราะโรคนี้อันตรายไม่ใช่เล่น
วิธีแก้อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมในตอนเช้า
บรรเทายังไงได้บ้าง
เนื่องจากอาการคลื่นไส้ตอนเช้าเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนั้นวิธีแก้อาการคลื่นไส้จึงแยกไปตามแต่ละโรค ดังนี้
- ท้องว่างแล้วคลื่นไส้ : ให้รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มตามปกติ อาการคลื่นไส้ก็จะหายไป
- อาการพะอืดพะอมคนท้อง : ใช้ยารักษาอาการแพ้ท้องตามแพทย์สั่ง
- คลื่นไส้ พะอืดพะอม จากการแฮงก์เหล้า : หลังตื่นนอนให้ดื่มน้ำ รับประทานอาหารอ่อน ๆ และกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล ร่วมกับยาลดกรด เพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- คลื่นไส้จากกรดไหลย้อน : ให้รับประทานยาลดกรด หรือยาแก้คลื่นไส้ ตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ
- คลื่นไส้หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร : สามารถใช้ยาแก้คลื่นไส้บรรเทาอาการตามแพทย์สั่งได้
- อาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยไตวาย : แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรม เช่น ลดอาหารจำพวกเนื้อ นม ไข่ และกินอาหารประเภทแป้งเพิ่มขึ้น (ในกรณีที่ไม่มีโรคเบาหวาน) ร่วมกับอาจได้ยาแก้คลื่นไส้จากแพทย์มาด้วย
- วิธีแก้อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมจากโรคอื่น ๆ : แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาว่าสามารถใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หรือใช้วิธีไหนบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม ที่ลองบรรเทาด้วยวิธีใด ๆ แล้วก็ไม่ได้ผล แถมยังมีทีท่าว่าจะเป็นหนักกว่าเดิมอีก คงนิ่งนอนใจไม่ไหวแล้วนะคะ แนะนำให้รีบพาตัวเองไปให้แพทย์ตรวจโดยเร็วเลย
คลื่นไส้ตอนเช้า แบบไหนต้องไปหาหมอ
อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมในตอนเช้า ดังต่อไปนี้ ให้ระวังให้ดีเพราะอาจเสี่ยงอันตรายได้
- มีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม ตอนเช้าแทบจะทุกวัน หรือเป็นบ่อยจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือเป็นมากกว่า 2 สัปดาห์
- คลื่นไส้ อาเจียนทั้งวัน
- มีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมตอนเช้า พร้อมท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับมีอาการปวดท้อง ปวดบิด และมีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ
- มีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมตอนเช้า พร้อมมีไข้
- อาเจียนเป็นเลือด
- อาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม เปลี่ยนรูปแบบไป เช่น จากแค่พะอืดพะอมก็เริ่มอาเจียน จากอาเจียนเริ่มลามมาปวดท้อง วิงเวียน วูบ เป็นต้น
- คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับซึมลง งุนงง
- มีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมตอนเช้า ร่วมกับอาการหายใจเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ
หากใครมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอมในตอนเช้า และเกิดความกังวลใจ ก็ไม่ผิดถ้าเราจะเข้าไปปรึกษาแพทย์หรือไปตรวจเช็กร่างกายให้ละเอียดถี่ถ้วน อย่างน้อยก็ทำให้คลายกังวลไปได้ อีกทั้งหากเจอความผิดปกติตรงไหนจะได้รีบรักษาได้ทันท่วงที