รอยฟกช้ำดำเขียว เมื่อเกิดขึ้นบนร่างกายคงดูไม่ค่อยสวยงามเท่าไร บางคนเลยอยากหาวิธีลดรอยช้ำให้แผลหายไว ๆ ด้วยอาหารฟื้นฟูร่างกายที่มีสารอาหารสำคัญบางอย่าง
วิธีลดรอยช้ำ ไม่ได้มีเพียงแค่การใช้ยาแก้ฟกช้ำเท่านั้น แต่เรายังสามารถเลือกกินอาหารบางชนิดที่มีสารสำคัญช่วยฟื้นฟูร่างกาย และบรรเทาอาการบวมช้ำให้หายเร็วขึ้นได้ มาดูกันเลยว่ามีอาหารอะไรบ้าง พร้อมวิธีทำให้รอยฟกช้ำหายเร็วในแบบอื่น ๆ
วิธีลดรอยช้ำอย่างเร่งด่วน
- ประคบเย็นบริเวณรอยฟกช้ำ ภายใน 48 ชั่วโมงแรก ครั้งละ 10-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว และให้เลือดที่ไหลออกจากเส้นเลือดฝอยที่ฉีกขาดลดลง
- ลดการเคลื่อนไหวร่างกายบริเวณที่เกิดรอยฟกช้ำ และพยายามยกให้รอยช้ำอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดการไหลเวียนเลือด ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบลงด้วย
- หลังจาก 48 ชั่วโมงที่รอยฟกช้ำเริ่มมีสีเหลืองหรือเขียว ให้เปลี่ยนมาประคบร้อน ครั้งละ 10-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและกระบวนการซ่อมแซมร่างกาย ให้รอยฟกช้ำจางลง
อาหารฟื้นฟูร่างกาย
ช่วยให้รอยฟกช้ำหายเร็วขึ้น
ถึงคิวอาหารที่ช่วยลดรอยฟกช้ำกันแล้ว มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
1. สับปะรด
ในสับปะรดมีเอนไซม์โบรมีเลน ซึ่งมีคุณสมบัติลดการอักเสบและอาการบวม ทำให้รอยเขียวช้ำจางลง อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่มีทุกฤดู หากินง่าย รสชาติก็อร่อย แถมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ
2. ใบบัวบก
ซดน้ำใบบัวบกแก้ช้ำใน ยังใช้ได้ถึงปัจจุบัน เพราะในใบบัวบกมีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระและธาตุเหล็ก ซึ่งมีส่วนช่วยลดอาการฟกช้ำ โดยสามารถนำมาคั้นน้ำดื่ม หรือนำใบบัวบกสด ๆ ไปปรุงเป็นอาหารรับประทานก็ได้
3. อาหารที่มีวิตามินซีสูง
เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม มะนาว เกรปฟรุต ผลไม้ตระกูลเบอร์รี ผักใบเขียว บรอกโคลี พริกหยวก มะเขือเทศ ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินซีที่จะช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง และลดการอักเสบไปด้วยในตัว
4. อาหารที่มีวิตามินเค
วิตามินเค มีสรรพคุณช่วยในการแข็งตัวของเลือด ป้องกันภาวะเลือดไหลออกมาเกินไป ทำให้รอยฟกช้ำจางลง โดยแหล่งของวิตามินเค ได้แก่ ผักใบเขียว ผักกะหล่ำ ผักกาดแก้ว ปวยเล้ง ผักโขม บรอกโคลี และยังพบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า เป็นต้น
5. อาหารที่มีซิงก์ (Zinc)
Zinc หรือธาตุสังกะสี ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อมาซ่อมแซมร่างกาย สมานแผล ทำให้อาการฟกช้ำหายเร็วขึ้นได้ โดยสามารถรับ Zinc ได้จากอาหารอย่างเมล็ดฟักทอง ผักโขม รวมถึงพืชตระกูลถั่ว
6. อาหารธาตุเหล็กสูง
เช่น เนื้อสัตว์ ปลา อาหารทะเล ผักใบเขียว ไข่ไก่ ข้าวกล้อง ถั่วชนิดต่าง ๆ เป็นต้น โดยธาตุเหล็กจะช่วยสมานแผล และทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนและคอลลาเจน ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวใหม่
7. อาหารโปรตีนสูง
ประโยชน์ของโปรตีนคือการสร้างเนื้อเยื่อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ดังนั้น หากมีรอยฟกช้ำก็สามารถรับประทานอาหารโปรตีนสูงได้ โดยควรเลือกโปรตีนลีนที่มีไขมันน้อยที่สุด เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา Plant-based ต่าง ๆ เป็นต้น
8. อาหารที่มีไบโอฟลาโวนอยด์
ไบโอฟลาโวนอยด์ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้ในผักและผลไม้ เช่น องุ่น ส้ม กีวี ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เกรปฟรุต บักวีต โดยสารนี้มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ลดปวด ลดบวม และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต กระตุ้นการผลิตคอลลาเจนและอีลาสติน ช่วยให้รอยฟกช้ำหายเร็วขึ้นได้
9. อาหารที่มีแอนโทไซยานิน
สารต้านอนุมูลอิสระอีกหนึ่งชนิดที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดและเนื้อเยื่อ และปกป้องเซลล์จากความเสียหายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ จึงช่วยบรรเทารอยฟกช้ำที่ผิวหนัง โดยสามารถหาแอนโทไซยานินได้จากอาหาร เช่น บลูเบอร์รี แครนเบอร์รี องุ่นดำ เชอร์รี เป็นต้น
10. ชาสมุนไพร
เครื่องดื่มอย่างชาสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น ชาขมิ้น ชาขิง จะมีสารเคอร์คูมิน ช่วยลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ หรือจะดื่มชาโรสแมรี ชาซินนามอน ก็จะช่วยลดบวม ลดปวดได้อีกทาง
11. ชาดำ
ชาดำมีฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการอักเสบได้เช่นกัน ดังนั้น หากไม่ถนัดดื่มชาสมุนไพร ลองมาดื่มชาดำแทนก็ได้ แต่อย่าเติมน้ำตาลเยอะจนเกินไปนะคะ
12. ชาเขียว
ชาเขียวไม่ได้แค่อร่อย แต่ยังมีประโยชน์อีกหลายประการ เพราะมีสารคาเทชินที่ช่วยบรรเทาการอักเสบ ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยให้รอยฟกช้ำจางลงได้เร็วขึ้น
13. น้ำเปล่า
การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะช่วยให้ร่างกายขับของเสีย และดีต่อการฟื้นฟูของเซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ลดรอยฟกช้ำให้จางหายได้เร็วขึ้น
อาหารที่ควรเลี่ยง ถ้าอยากให้รอยช้ำหายไว ๆ
นอกจากอาหารที่ควรกินเพื่อให้รอยฟกช้ำหายเร็วขึ้นแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น อาหารที่ไขมันอิ่มตัวสูง อย่างเนื้อติดมัน ฟาสต์ฟู้ด เบเกอรี่ ชีส ของทอด รวมไปถึงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะน้ำตาลและไขมันจะไปกระตุ้นการอักเสบ ทำให้อาการฟกช้ำแย่ลงได้
ตามปกติแล้ว กระบวนการฟื้นฟูของร่างกาย จะบรรเทาอาการฟกช้ำให้หายไปได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่หากเรารับประทานอาหารต้านการอักเสบช่วยด้วยอีกทางก็จะย่นเวลามีรอยฟกช้ำบนร่างกายได้ อย่างไรก็ดี หากรอยฟกช้ำไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ควรไปพบแพทย์นะคะ