โรคแพนิกห้ามกินอะไร คนเป็นโรคตื่นตระหนกควรรู้ไว้ ป้องกันอาการกำเริบ

          โรคแพนิกห้ามกินอะไร ใครป่วยเป็นโรคตื่นตระหนกแล้วไม่อยากให้อาการวนกลับมาเป็นอีกซ้ำ ๆ ควรรู้ไว้ แล้วเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม
โรคแพนิก

          โรคแพนิก (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรคทางจิตเวชในกลุ่มโรควิตกกังวล ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการตื่นตระหนกอย่างไม่ทราบสาเหตุจนกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการก็มีตั้งแต่ความเครียด เรื่องที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง การติดจอมากเกินไป พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย และอาหารบางชนิดก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้อาการแพนิกกำเริบได้ ซึ่งใครป่วยโรคตื่นตระหนกอยู่ลองมาดูว่า แพนิกห้ามกินอะไรบ้าง

โรคแพนิกห้ามกินอะไร
รู้ไว้ถ้าไม่อยากกระตุ้นอาการ

โรคแพนิก

          อาหารที่เรากินในแต่ละวันจะมีสารอาหารต่าง ๆ ที่ร่างกายดูดซึมเข้าไป ซึ่งบางอย่างก็ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย แต่อาหารบางชนิดก็อาจส่งผลต่อสารเคมีในสมอง และกระตุ้นอาการตื่นตระหนกได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคแพนิกจึงควรเลือกและเลี่ยงอย่างเหมาะสม ดังนี้

แอลกอฮอล์

          เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจกระตุ้นอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หรือใจหวิว ๆ ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคแพนิกที่ความผิดปกติของสารเคมีในสมองอาจสั่งให้ร่างกายเกิดอาการเหล่านี้ได้ง่ายจึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

          ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มช็อกโกแลต หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอื่น ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน เพราะคาเฟอีนมีส่วนกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งหากดื่มแล้วเกิดอาการใจสั่นขึ้นมาอาจพาลคิดว่าเป็นอาการแพนิก และทำให้ยิ่งวิตกกังวลกันไปใหญ่

อาหารที่มีน้ำตาลสูง

อาหารที่มีน้ำตาลสูง

          ทั้งในกลุ่มเครื่องดื่มสี ๆ เบเกอรี่ ขนมหวานต่าง ๆ เพราะอาหารเหล่านี้เมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ก่อนจะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาวะนี้อาจเหนี่ยวนำให้อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย และอาจเสี่ยงอาการแพนิกกำเริบ

อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาล (GI) สูง

         เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เค้ก มันฝรั่ง เวเฟอร์ ขนมอบกรอบ แผ่นแป้งต่าง ๆ ผลไม้ที่มีรสหวานนำอย่างแตงโม อินทผลัม เป็นต้น รวมไปถึงน้ำผึ้ง ที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพิ่มความเสี่ยงอารมณ์แปรปรวนได้

โรคแพนิกควรกินอะไร
ลดความเสี่ยงอาการกำเริบ

ไข่

ไข่

         อาหารสามัญอย่างไข่ไก่ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงอาการแพนิกได้ เพราะในไข่ไก่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสภาพอารมณ์ ทั้งวิตามินดีและทริปโตเฟนที่ต่างก็ช่วยกระตุ้นการสร้างสารเซโรโทนิน หรือสารแห่งความสุขได้ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยโปรตีน แถมอร่อยอีกด้วย
 

ประโยชน์ของไข่ 25 ข้อดีเน้น ๆ ที่คุณต้องร้องว้าว

ปลาแซลมอน

          เนื้อปลาแซลมอนที่กินได้ทั้งแบบดิบ ย่าง ทอด อบ ก็อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมไปถึงด้านอารมณ์ โดยในแซลมอนจะมีทั้งกรดไขมันโอเมก้า 3 กรดไขมัน DHA กรดไขมัน EPA และวิตามินดี ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นสารแห่งความสุข หรือเซโรโทนิน มีส่วนช่วยลดอารมณ์ด้านลบ ทำให้สภาพจิตใจมั่นคงขึ้น
 

ปลาแซลมอน ประโยชน์ดียังไง กินดิบอันตรายหรือเปล่า

ชาคาโมมายล์

           ชาช่วยให้อารมณ์ดีอย่างชาคาโมมายล์ เป็นชาที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด บรรเทาความกังวล อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบต่าง ๆ ในร่างกายได้อีกด้วย

เมล็ดฟักทอง

          ธัญพืชอย่างเมล็ดฟักทองอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่ช่วยปรับสมดุลความดันโลหิต อีกทั้งการศึกษาเมื่อปี 2008 ยังพบด้วยว่า การมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมในระดับต่ำ อาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารคอร์ติซอล หรือสารแห่งความเครียดได้ ดังนั้นถ้าอยากอยู่ให้ไกลความเครียดที่อาจกระตุ้นอาการแพนิก ลองเติมโพแทสเซียมให้ร่างกายด้วยการกินเมล็ดฟักทองได้เลย

อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง

          แมกนีเซียมเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยลดอาการซึมเศร้า ดีต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยจิตเวช ช่วยลดอาการ PMS ทั้งยังช่วยรักษาสมดุลความดันโลหิตและจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง ได้แก่ กล้วยหอม ดาร์กช็อกโกแลต ปลาทูน่า ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดฟักทอง เต้าหู้ขาว ผักใบเขียว เป็นต้น
 

อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง กินอะไรดี ผัก-ผลไม้ชนิดไหนมีแมกนีเซียมสูงบ้าง

อาหารที่มีโพรไบโอติกสูง

อาหารที่มีโพรไบโอติกสูง

          เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต คอมบูชา ขิงดอง กิมจิ มิโสะ เทมเป้ เป็นต้น เพราะโพรไบโอติกมีส่วนช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งส่งผลดีต่อด้านอารมณ์ด้วยนะคะ โดยมีการศึกษาพบว่า การมีแบคมีเรียชนิดดีในลำไส้ โดยเฉพาะแบคทีเรียดีชนิดแล็กโทบาซิลลัส และไบฟิโดแบคทีเรียม อย่างพอเพียง จะช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงของอาการแพนิกที่มีความเครียด ความจิตตก เป็นปัจจัยกระตุ้นอาการ
 

10 อาหารที่มีโพรไบโอติก ช่วยปรับสมดุลลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน กินอะไรดี

อาหารที่มี Zinc สูง

          สิ่งที่ผู้ป่วยแพนิกต้องการคือประโยชน์ของ Zinc หรือธาตุสังกะสี ในด้านการรักษาสมดุลของระบบประสาทสมอง กระตุ้นความรู้สึกสดชื่น ตื่นตัว และยังมีการศึกษาที่พบว่า การมี Zinc ในร่างกายอย่างเพียงพอจะช่วยบรรเทาอารมณ์ผิดปกติต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกวิตกกังวลหรือความรู้สึกเศร้าได้ในบางคน และใครที่อยากเติม Zinc ให้ร่างกาย ก็สามารถหาได้จากอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับ เนื้อปลา อาหารทะเล ข้าวโพด โฮลเกรน ถั่วชนิดต่าง ๆ หรือนม เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถรับประทาน Zinc ในรูปแบบอาหารเสริมก็ได้นะคะ
 

Zinc ยี่ห้อไหนดี แนะนำ 10 อาหารเสริมซิงค์ รักษาสิว ลดหน้ามัน เสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย

          นอกจากการดูแลเรื่องอาหารการกินแล้ว ผู้ป่วยโรคแพนิกควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-7 ชั่วโมง หมั่นออกกำลังกาย อยู่ให้ห่างไกลความเครียด และฝึกหายใจเข้า-ออกช้า ๆ โดยหายใจเข้าปอดลึก ๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกทางปาก สลับกับหายใจเข้าทางปากช้า ๆ แล้วผ่อนลมหายใจออกทางจมูกช้า ๆ ซึ่งจะช่วยลดอาการแพนิกได้เช่นกัน

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเวช

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคแพนิกห้ามกินอะไร คนเป็นโรคตื่นตระหนกควรรู้ไว้ ป้องกันอาการกำเริบ อัปเดตล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16:57:30 94,329 อ่าน
TOP
x close