ท้องป่องตอนเช้า พุงป่องเหมือนคนท้อง อาจไม่ใช่แค่อ้วนเฉย ๆ

          ท้องป่องตอนเช้า แล้วยังมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องบวมเหมือนคนท้อง ถ้ามองตัวเองในกระจกแล้วเห็นแบบนี้ทุกเช้า ขอเลยว่าอย่าวางใจ !
           ท้องป่องตอนเช้า เชื่อว่าอาการนี้เกิดได้กับหลายคน แต่หากทุกเช้าเจอพุงป่อง ยื่นออกมาก่อนส่วนไหนในร่างกายเลย อาจไม่ใช่ภาวะปกติแล้วนะคะ เพราะท้องป่องตอนเช้า บางครั้งก็เป็นสัญญาณเตือนได้ว่าร่างกายกำลังซ่อนปัญหาสุขภาพบางอย่างอยู่ ซึ่งลองมาดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง

ท้องป่องตอนเช้า จากพฤติกรรมที่ทำจนเป็นนิสัย

ท้องป่องตอนเช้า

  • จัดหนักมื้อเย็น มื้อดึก โดยเฉพาะมื้อก่อนเข้านอน
  • กินอิ่มแล้วนอนเลย
  • ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ
  • ดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ๆ 
  • กินอาหารคำใหญ่ หรือติดนิสัยกินข้าวเร็ว ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้ลมเข้าท้องได้มาก
  • กินผัก ผลไม้ อาหารไฟเบอร์สูง มากเกินไป หรือกินอาหารเสริมไฟเบอร์มากเกินความจำเป็น
  • ชอบกินผักที่แก๊สเยอะ เช่น บรอกโคลี, กะหล่ำ หรือถั่ว เป็นต้น และมักจะกินในปริมาณมาก ๆ
  • ติดขนมขบเคี้ยว อาหารโซเดียมสูง
  • เป็นสายหวาน ชอบบริโภคทั้งน้ำหวานและขนมหวานต่าง ๆ 
  • ติดเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเทียมอย่างซอร์บิทอล หรือฟรุกโตส
  • ดื่มน้ำน้อย ปัสสาวะน้อย จนอาจส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ขับโซเดียมไปพร้อมปัสสาวะ ทำให้มีอาการบวม อีกทั้งการดื่มน้ำน้อยยังส่งผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกายด้วยนะคะ
  • อดนอนบ่อย ๆ ทำให้ร่างกายเผาผลาญได้ไม่ดี
  • ท้องผูกเป็นประจำ
  • ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ ช่วยขับลม ขับแก๊ส แถมยังช่วยลดไขมันสะสมได้อีกด้วย
  • การรับประทานยาคุมกำเนิดบางตัวที่ทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs, ยาระบายแก้ท้องผูก, ยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า

          อย่างไรก็ดี หากท้องป่องตอนเช้าเกิดจากพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถกำจัดพุงป่อง ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนัก กินให้ดี นอนให้ดี เป็นต้น แต่ถ้าหากลองเปลี่ยนตัวเองแล้วยังตื่นมาเจอพุงป่องตอนเช้าในทุก ๆ วัน อาจต้องลองมองไปถึงปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่แล้วล่ะค่ะ

ท้องป่องตอนเช้า จากปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่

ท้องป่องตอนเช้า

          หากตื่นมาเจอท้องป่องตอนเช้าเป็นประจำ อาจเป็นไปได้ว่ามีปัญหาสุขภาพบางประการที่กระตุ้นให้เกิดอาการท้องอืด เช่น

1. การแพ้อาหาร

          โดยเฉพาะอาหารที่มีกลูเตน น้ำตาลในนมวัว ถั่วต่าง ๆ ที่ร่างกายย่อยไม่ได้ จนเกิดภาวะท้องอืด ซึ่งอาการจะมาหลังกินอาหารที่มีส่วนผสมของสิ่งที่เราแพ้

2. ภาวะคั่งน้ำ

          เกิดจากความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้มีสารน้ำขังอยู่ในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งนอกจากจะท้องป่องตอนเช้ายาวไปจนทั้งวันแล้ว ส่วนแขน ขา หน้า มือ เท้า ก็อาจบวมด้วย

3. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง

          โดยเฉพาะในช่วงที่มีประจำเดือนไม่ว่าจะก่อนหรือหลังประจำเดือนมา การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนอาจทำให้มีอาการบวมน้ำได้ เนื่องจากร่างกายจะกักเก็บของเหลวไว้มากกว่าปกติ จึงอาจเจออาการท้องป่องตอนเช้าเป็นเวลา 3-7 วัน โดยประมาณ และอาการบวมน้ำก็จะเป็นอยู่ทั้งวันตลอดช่วงที่มีประจำเดือนเลยค่ะ

4. ภาวะอ้วนลงพุง

          ถ้าอาการท้องป่องตอนเช้ามาพร้อม ๆ กับน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ด้วย แถมยังรู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง เสื้อผ้าตัวเดิม ๆ ก็เริ่มคับ อาจเป็นภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งก็น่ากลัวไม่เบานะคะ เพราะการปล่อยให้อ้วนลงพุงก็เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในช่องท้อง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์ และอื่น ๆ

5. ปัญหาในระบบทางเดินอาหาร

          อันได้แก่

  • การอักเสบภายในช่องท้องหรือลำไส้
  • การติดเชื้อในทางเดินอาหาร
  • ลำไส้อุดตัน
  • ลำไส้แปรปรวน
  • โรคโครห์น
  • กรดไหลย้อน
  • โรคเซลิแอค (Celiac disease) ที่มีสาเหตุจากระบบภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาต่อกลูเตนแบบผิดปกติ
  • แผลในกระเพาะอาหาร
  • มะเร็งลำไส้
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร

6. ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID)

          มักจะมีอาการปวดท้องน้อย ตกขาวผิดปกติ ตกขาวเหมือนหนอง เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด รวมทั้งเจ็บลึก ๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย

7. โรคตับ

          อาการท้องอืด ท้องบวม ก็เป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคตับได้เหมือนกัน แต่ทั้งนี้ก็อยากให้สังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่่น ปวดท้องบ่อย ๆ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเหลือง ตาขาวมีเส้นเลือดปรากฏ หน้าหมองคล้ำ เป็นต้น

8. มะเร็งตับอ่อน

           โดยมีอาการสังเกตเบื้องต้น เช่น ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง, ปวดบริเวณส่วนบนของช่องท้องและร้าวไปหลัง ปวดท้องร่วมกับปวดหลัง, เบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ, อ่อนเพลียกว่าปกติ หรือบางคนอุจจาระจะมีไขมันปนมาก

9. โรคคุชชิง (Cushing's syndrome)

           เป็นโรคที่เกิดจากการมีฮอร์โมนสเตียรอยด์ในเลือดสูงกว่าปกติ โดยมักจะเกิดกับผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์นาน ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี, ผู้ป่วยโรคปวดข้อรูมาตอยด์, โรคไตเนโฟรติก เป็นต้น นอกจากอาการพุงป่องแล้ว ผู้ป่วยมักจะมีหน้าอูม หน้ากลม ในระยะแรก ๆ สีผิวจะออกแดงเรื่อ ๆ มีก้อนไขมันที่ต้นคอด้านหลัง แต่ขาจะเล็กลีบ ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

10. โรคเกี่ยวกับรังไข่

           โดยเฉพาะเนื้องอกรังไข่ ซึ่งมักจะคลำพบก้อนที่หน้าท้อง ร่วมกับมีอาการท้องอืด คลื่นไส้ ด้วยได้

11. มะเร็งมดลูก

          อีกหนึ่งโรคมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง โดยมะเร็งมดลูกเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก พบได้เป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะเพศสตรี รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ อาการสำคัญของโรคมะเร็งมดลูก คือ มีประจำเดือนผิดปกติ มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน

ท้องป่องตอนเช้า แก้ยังไงได้บ้าง

ท้องป่องตอนเช้า

           วิธีลดพุงป่อง ๆ ที่เป็นอยู่ตอนนี้ทำได้หลายแนวทางเลยค่ะ เช่น

  • ควบคุมอาหาร โดยลดอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารไขมันสูง ลดอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ แหนม รวมไปถึงอาหารจังก์ฟู้ด น้ำหวานต่าง ๆ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การรับประทานอาหาร เช่น เลือกกินอาหารประเภทผัก ผลไม้ โปรตีน ให้มากขึ้น
  • ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น 
  • เลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก หรือกินในปริมาณที่น้อย แต่หากจำเป็นต้องกินมื้อดึกบ่อย ๆ เช่น คนที่ทำงานกะดึก คนที่เลิกงานค่ำมืด แนะนำให้ไปโฟกัสที่มื้อเช้าแทน โดยเลือกกินอาหารโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย บรอกโคลี แตงกวา มันฝรั่ง มะเขือเทศ หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง เพราะอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงเหล่านี้จะช่วยขับน้ำ ขับโซเดียม ลดอาการพุงป่องได้
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
  • รักษาโรคที่เป็นอยู่ เพราะอย่างที่บอกว่าท้องป่องตอนเช้า หรือมีท้องป่องกว่าส่วนไหน ๆ ในร่างกายอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติในร่างกาย ด้งนั้นควรเข้ารับการรักษาโรคให้หายเพื่อเป็นการแก้ปัญหาจากต้นเหตุ

ท้องป่องตอนเช้า แบบไหนควรไปพบแพทย์

          หากมีอาการท้องป่อง อ้วนแค่ที่พุง ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ แนะนำให้รีบพาตัวเองไปปรึกษาแพทย์โดยด่วน

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสียเรื้อรัง
  • ถ่ายเป็นเลือด
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ
  • เป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง และอาการแย่ลงเรื่อย ๆ
  • ไข้สูง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
          อย่างไรก็ดี อาการท้องป่องตอนเช้าอาจเป็นแค่ความอ้วนธรรมดา ที่แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็นสายไดเอตหรือเฮลธ์ตี้มากขึ้นก็ช่วยให้ท้องป่อง ๆ กลับไปเรียบแบนได้ ทว่าหากมีอาการท้องป่องร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนก็ไม่อยากให้ชะล่าใจนะคะ เพราะโรคภัยทุกโรค รู้ไวก็เพิ่มโอกาสในการรักษา และลดความรุนแรงของโรคนั้น ๆ ได้ด้วย

บทความที่เกี่ยวข้องกับภาวะท้องป่อง พุงป่อง

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ท้องป่องตอนเช้า พุงป่องเหมือนคนท้อง อาจไม่ใช่แค่อ้วนเฉย ๆ อัปเดตล่าสุด 8 ธันวาคม 2565 เวลา 15:54:42 118,932 อ่าน
TOP
x close