ปวดหัวข้างขวา บางคนอาจคิดว่าแค่อาการธรรมดา แต่หากปวดหัวข้างขวาจี๊ด ๆ ปวดศีรษะตุบ ๆ และปวดถี่ขึ้น อาจเป็นสัญญาณบอกได้หลายโรค
ปวดหัวข้างขวา เชื่อว่าเป็นอาการไม่สบายที่เจอกันได้ทุกคน แต่หากใครมีอาการปวดหัวข้างขวาจี๊ด ๆ เป็นประจำ ก็ไม่อยากให้เกิดความคุ้นชินและหายาแก้ปวดกินเพื่อบรรเทาอาการเฉย ๆ นะคะ แต่แนะนำให้ลองพิจารณาดูดี ๆ ว่ามีความเสี่ยงโรคเหล่านี้ ที่มีอาการปวดหัวข้างขวาเป็นหนึ่งในสัญญาณหรือเปล่า
ปวดหัวข้างขวา เกิดจากโรคอะไรได้บ้าง
ปวดหัวข้างขวาบอกได้หลายสาเหตุ แต่ถ้าจะพูดถึงความเสี่ยงของโรค อาจเกิดจากโรคหรือปัญหาสุขภาพ เช่น
การติดเชื้อไวรัส
โดยเฉพาะไวรัสที่ก่อโรคหวัดทั่วไป ไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 ก็มักจะทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างขวา หรือข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดไปทั่วทั้งศีรษะได้ ร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้ คัดจมูก ไอ จาม น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยเนื้อตัว เป็นต้น
ไซนัสอักเสบ
แม้ส่วนใหญ่อาการไซนัสอักเสบจะปวดหัวทั้ง 2 ข้าง แต่ก็มีบางคนที่มีอาการปวดหัวข้างขวาหรือปวดหัวข้างซ้ายข้างเดียวได้เหมือนกัน แต่นอกจากจะปวดหัวแล้ว ไซนัสอักเสบยังจะพบอาการปวดกกหู ปวดกระบอกตา หรือปวดกราม ร่วมกับคัดจมูก จามถี่ ๆ และน้ำมูกไหล ด้วยนะคะ
ไมเกรน
ไมเกรนเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท ที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียว และมักจะเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งนอกจากจะปวดหัวข้างขวาหรือข้างซ้ายแล้ว ผู้ป่วยไมเกรนยังอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว ปวดกระบอกตา ปวดคอ หรือบางคนก็มีอาการปวดหัวทั้งสองข้างเลย นอกจากนี้อาการปวดหัวมักจะกำเริบเมื่อเจอกับสิ่งแวดล้อมที่เหนี่ยวนำ เช่น อากาศร้อนจัดหรือเย็นจัด การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างฉับพลัน การเจอแสงจ้า ๆ หรืออยู่ในที่เสียงดัง รวมไปถึงการอยู่ในจุดที่มีกลิ่นหอมฉุนหรือกลิ่นเหม็นจัดจนเกินไป
โรคเครียด โรควิตกกังวล หรือภาวะอารมณ์ผิดปกติ
หากรู้สึกเครียด กดดัน หรือตกอยู่ในสภาวะที่มีความกังวล ความกลัวอะไรบางอย่าง ความเสียใจ ดีใจ หรืออารมณ์โกรธแบบสุดกู่ อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวข้างขวาหรือปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งได้เช่นกัน
โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea)
หากอาการปวดหัวข้างขวามักเป็นหลังตื่นนอน อาจต้องนึกถึงโรคนี้ไว้ก่อน เพราะภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดค่อย ๆ ลดลงในขณะนอนหลับ และผู้ป่วยมักจะไม่รู้สึกตัว นอนต่อไปเรื่อย ๆ จนเช้า เมื่อตื่นมาจึงมีออกซิเจนในเลือดน้อยกว่าปกติ การไหลเวียนของโลหิตก็จะไม่คล่องตัวเท่าไร ส่งผลให้มีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือปวดตุบ ๆ ไปทั้งศีรษะ ร่วมกับอาการขาดสมาธิ ขี้ลืม ง่วงนอนตอนกลางวัน หรือหากปล่อยให้เป็นเรื่อย ๆ ไม่รักษาก็อาจมีความรู้สึกทางเพศลดลง แถมยังเสี่ยงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย
โรคปวดเส้นประสาทท้ายทอย (Occipital Neuralgia)
เป็นอาการปวดที่อาจมีการอักเสบหรืออาการปวดเรื้อรังจากการนั่งผิดท่าสะสมมาเป็นเวลานาน หรือเส้นประสาทส่วนนี้ถูกทำลายจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้ายทอยจี๊ด ๆ ลามมาปวดหัวข้างขวาตุบ ๆ หรือบางคนอาจปวดกระบอกตา หรือมีความไวต่อแสง คล้าย ๆ โรคไมเกรนได้
ภาวะหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ (Temporal Arteritis)
ถ้ามีอาการปวดหัวข้างขวา เน้น ๆ ไปที่การปวดขมับ อาจเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดแดงส่วนนอกสมอง (หลอดเลือดบริเวณขมับ) ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่รู้ถึงสาเหตุแน่ชัดว่าภาวะการเจ็บป่วยนี้เกิดจากอะไร ทำไมหลอดเลือดขมับจึงเกิดการอักเสบจนทำให้เลือดลำเลียงมายังเส้นเลือดแดงส่วนขมับเหล่านี้ได้ยาก แต่หากเกิดการอักเสบแล้วจะมีอาการปวดหัวข้างขวาในลักษณะปวดตื้อ ๆ ตึง ๆ บริเวณขมับ ร่วมกับอาการอ่อนเพลีย ปวดกราม และอาการมักจะค่อนข้างหนักหน่วง รุนแรง
โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
เป็นกลุ่มอาการปวดหัวที่เกิดมาจากการมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติไตรเจอมินอล (Trigeminal Autonomic Cephalalgias) และการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้าที่มีชื่อว่าไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมนาฬิกาชีวิต โดยโรคนี้มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนอาการจะปวดหัวข้างเดียวที่อาจจะเป็นข้างขวาหรือข้างซ้ายก็ได้ แต่จะปวดอย่างรุนแรงและปวดไปทั้งซีก ตั้งแต่ศีรษะ กระบอกตา หลังตา ขมับ โดยอาการจะเป็นประมาณ 15 นาที ถึง 3 ชั่วโมง ในบางคน และจะมีอาการปวดติดต่อกันทุกวัน หรือติดต่อกันหลายสัปดาห์
โรคปวดหัวข้างเดียวเรื้อรัง (Hemicrania Continua)
เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ที่ไปเลี้ยงบริเวณใบหน้าถูกกดทับจากเส้นเลือดสมองที่อยู่ใกล้ ๆ มาเบียดทับเส้นประสาทดังกล่าว หรืออาจเกิดจากก้อนเนื้องอกหรือซีสต์ในสมองไปกดทับเส้นประสาท หรือการอักเสบของเส้นประสาทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เป็นต้น โดยจะมีอาการปวดหัวข้างเดียวเรื้อรัง เป็นได้ทั้งข้างขวาและข้างซ้าย ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อาการปวดจะไม่ย้ายข้าง ร่วมกับปวดกระบอกตา น้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม น้ำมูกไหล หรือปวดบวมที่ปากข้างเดียวกับที่ปวดศีรษะ และมีอาการนานกว่า 3 เดือนขึ้นไป
โรคปวดศีรษะจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูกคอ (Cervicogenic Headache)
เป็นอาการปวดหัวข้างเดียวที่เกิดจากกระดูกคอ หรือการอยู่ในท่าที่เทน้ำหนักไปกดทับเส้นประสาทสมองเส้นที่ 1-4 จนเป็นเหตุให้เกิดอาการปวดหัวข้างขวาหรือปวดหัวข้างซ้าย ลามไปที่บริเวณท้ายทอย ขมับ กระบอกตา หน้าผาก ปวดไหล่ ปวดแขน หรือบางคนอาจปวดไปทั่วทั้งหัว ทั้งใบหน้าก็เป็นได้ และอาการมักจะแย่ลงเมื่อเปลี่ยนท่าหรือขยับร่างกาย
โรคปวดเส้นประสาทข้างเดียวระยะสั้น (SUNCT Syndrome)
อาการปวดหัวข้างเดียวร่วมกับมีตาแดงและน้ำตาไหล ที่เกิดจากภาวะปวดประสาทข้างเดียว โดยจะมีอาการแค่ระยะสั้น แต่ค่อนข้างรุนแรง คือ มักปวดหัวรุนแรง ปวดกระบอกตา ปวดรอบ ๆ ดวงตาจนตาแดง น้ำตาไหล คัดจมูก เหงื่อออกใบหน้า โดยโรคนี้มักพบได้บ่อยในเพศชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
หลอดเลือดแดงอักเสบแบบไจแอนท์เซลล์ (Giant Cell Arteritis)
หรือในทางการแพทย์เรียกว่าโรคปวดศีรษะแบบ GCA ที่เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดบริเวณแขนงหลอดเลือดใหญ่ที่คอ (External Carotid Artery หรือหลอดเลือดเทมโพรัล : Temporal) หรือเส้นเลือดปูดตรงขมับ ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณนี้ได้ไม่ดีนัก จนเกิดอาการปวดหัวข้างขวาหรือปวดหัวข้างซ้ายข้างเดียว ร่วมกับอาการปวดตึงหนังศีรษะ ปวดกราม โดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอาหาร การมองเห็นผิดปกติไป กล้ามเนื้อปวดตึงและเจ็บ ซึ่งอาการปวดศีรษะจะมีความรุนแรงพอสมควรนะคะ และหากปวดหัวตุบ ๆ หรือปวดหัวจี๊ด ๆ มาก ๆ ก็ควรต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ก่อนอาการจะบานปลายไปยังสุขภาพด้านอื่น ๆ
หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm)
นับเป็นภัยเงียบที่อันตราย เพราะหากเกิดเส้นเลือดสมองโป่งพองจนไปเบียดทับเส้นประสาทข้างเคียง อาจทำให้เกิดอาการปวดร้าวใบหน้า หนังตาตก หรือเห็นภาพซ้อนได้ แต่หากเส้นเลือดสมองแตก อาจทำให้ปวดหัวข้างเดียวอย่างรุนแรงและเฉียบพลันจากภาวะความดันในกะโหลกสูง ปวดหัวมากจนก้มคอไม่ได้ คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หมดสติ ไม่รู้ตัว เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสี่ยงเสียชีวิตกะทันหันได้ โดยโรคนี้เกิดจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา โรคทางพันธุกรรมบางชนิด หรือผู้ที่สูบบุหรี่มานาน หรือความเสื่อมของเซลล์ตามอายุที่มากขึ้น
โรคเนื้องอกในสมอง
เนื้องอกในสมองอาจกดทับเส้นประสาทจนส่งผลให้มีอาการปวดหัวเรื้อรังได้ โดยหากมีเนื้องอกที่สมองด้านขวาก็จะมีอาการปวดหัวข้างขวาเรื้อรัง ยิ่งเอนตัวนอน หรือไอ จาม เบ่งอุจจาระ อาการปวดก็จะมากขึ้น ซึ่งหากมีอาการมาสักพัก และกินยาก็ไม่หายสนิท พอฤทธิ์ยาหมด อาการปวดหัวก็จะกลับมาเป็นซ้ำเรื่อย ๆ แถมอาการปวดก็ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที แบบนี้ก็ต้องเอะใจแล้วไปตรวจร่างกายกับแพทย์จะดีที่สุดนะคะ
โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก
ถ้าปวดหัวข้างขวา หรือปวดหัวข้างซ้ายจี๊ด ๆ มีอาการปวดตุบ ๆ อย่างรุนแรง ชนิดที่ไม่เคยรู้สึกปวดเท่านี้มาก่อน หรือปวดหัวมาก ๆ ไปทั่วศีรษะแบบเฉียบพลันกะทันหัน ร่วมกับอาการปากเบี้ยว มุมปากตก หรือแขน-ขาชา มีอาการอ่อนแรง อาจมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก จากการตีบ แตก ตัน ของเส้นเลือดในสมอง หรือมีภาวะเลือดออกในสมองได้ และหากเข้ารับการรักษาไม่ทันก็เสี่ยงจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตในเวลาอันสั้นได้เลยค่ะ
อย่างไรก็ดี อาการปวดหัวข้างขวา ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุที่ไม่ใช่โรคด้วยนะคะ ตามไปดูกันเลย
อาการปวดหัวข้างขวา จากสาเหตุที่ไม่ใช่โรค
อาการปวดหัวข้างขวา อาจเกิดจากพฤติกรรม การใช้ยา หรือการรับประทานอาหารของเราด้วย ดังนี้
- การดื่มเครื่องดื่มบางชนิด โดยเฉพาะที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่มากเกินไป หรือมีอาการเสพติดจนถ้าไม่ได้ดื่มจะรู้สึกปวดหัวได้
- การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น พืชตระกูลถั่ว ช็อกโกแลต อาหารหมักดอง อาหารรมควัน อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรสต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นอาการปวดหัวได้ในบางคน
- การจ้องหน้าจอต่าง ๆ ทั้งจอคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต นาน ๆ ซึ่งอาจจะรู้สึกปวดกระบอกตา ปวดคอก่อน แล้วลามมาปวดหัวข้างเดียวหรือปวดหัวตึ้บ ๆ ไปทั่วทั้งศีรษะ
- การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย การใช้ร่างกายหรือสมองหนัก ๆ
- ความเครียด การเจอสถานการณ์ที่กดดันจนเกินไป
- การอดอาหาร ที่อาจกระตุ้นอาการปวดหัวได้ เนื่องจากสมองขาดน้ำตาล
- สภาพอากาศที่ร้อนจัด เย็นจัด ก็อาจทำให้ปวดหัวข้างเดียวได้
- สิ่งแวดล้อม เช่น กลิ่นเหม็นฉุน แสงจ้า ๆ เสียงดัง ๆ โหวกเหวก ก็กระตุ้นอาการปวดหัวได้ โดยเฉพาะในคนที่เป็นไมเกรนอยู่แล้ว
- การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนของร่างกาย เช่น ก่อนหรือหลังเป็นประจำเดือน ตอนตั้งครรภ์ หรือวัยหมดประจำเดือน
- การนอนกัดฟัน นอนขบฟันทั้งคืน จนกล้ามเนื้อกรามปวดตึง ซึ่งอาจลามมาปวดศีรษะได้
- การใช้ยาบางชนิดเกินขนาด เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มแอสไพริน พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน หรือยาแก้ปวดไมเกรนบางชนิด เป็นต้น
- ภาวะความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา
- ศีรษะได้รับการสั่นสะเทือนหรือถูกกระแทกอย่างรุนแรง อาจจะเกิดจากอุบัติเหตุ การถูกทำร้าย หรือปัจจัยใดก็ตาม
อาการปวดหัวข้างขวา แก้อย่างไรได้บ้าง
เราสามารถบรรเทาอาการปวดหัวข้างขวาได้ด้วยวิธีดังนี้
- พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แต่ถ้าติดกาแฟ ต้องการดื่ม ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัม (เทียบเท่ากาแฟร้อน 4 แก้ว โดยประมาณ)
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลองสังเกตตัวเองดูว่ามีอาการปวดหัวหลังกินอาหารชนิดไหนไหม หากพบว่ามีควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ
- ดื่มน้ำเปล่าให้ได้อย่างน้อย 1.5 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- พยายามพักสายตาจากหน้าจอต่าง ๆ ทุก ๆ 30 นาที
- นวดคลึงคอ บ่า ไหล่ เพื่อคลายอาการกล้ามเนื้อตึง ซึ่งอาจนำมาสู่อาการปวดศีรษะได้
- หลีกเลี่ยงการทำทรงผมที่ดึงรั้งหนังศีรษะจนเกินไป เช่น ผมรวบตึง มัดหางม้า หรือการเกล้าผมสูง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงความเครียด สถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกดดัน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ร้อนจัด เย็นจัด ที่ที่มีสภาพอากาศเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว หรือพื้นที่ที่เสียงดังอึกทึก มีแสงไฟจ้า ๆ
- ผ่อนคลายร่างกายด้วยกิจกรรมที่ชอบ เช่น ฟังเพลง นั่งชมวิวด้วยสมองที่ปลอดโปร่ง หรือนั่งสมาธิ ผ่อนลมหายใจคนเดียวเงียบ ๆ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-7 ชั่วโมงต่อวัน
- หากนอนกรนให้รีบไปรักษาอาการ
- ประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณที่ปวด เช่น ศีรษะ ท้ายทอย แก้ม กราม เพื่อบรรเทาอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ตามขนาดที่เภสัชกรแนะนำ หรือตามน้ำหนักตัว
ใครมีอาการปวดหัวข้างขวาแบบไม่รุนแรงก็ลองปรับพฤติกรรมหรือลองทำตามวิธีข้างต้นได้เลย ทว่าหากอาการปวดหัวข้างขวายังไม่หายสักที แถมมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจรักษาจะดีกว่า
ปวดหัวข้างขวาแบบไหนไม่ควรปล่อยไว้ ต้องรีบไปพบแพทย์
อาการปวดหัวข้างขวาที่ไม่ควรวางใจ และเข้าข่ายอันตราย มีดังนี้
- มีไข้สูง
- ตาแดง ปวดตา
- เหงื่อออก
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว มีการมองเห็นที่ผิดปกติไป
- มึนงง สับสน
- มุมปากตก ปากเบี้ยว
- แขน-ขาอ่อนแรง โดยเฉพาะในเคสที่เป็นแค่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย
- อาการปวดหัวมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปวดถี่ขึ้น ปวดรุนแรงขึ้น หรือเปลี่ยนจุดที่ปวดไปเรื่อย ๆ
- ปวดหัวเมื่อเคลื่อนไหวร่างกาย หรือปวดมากขึ้นเมื่อไอ จาม เบ่งอุจจาระ
- คอแข็ง ก้มหน้าไม่ได้
- อาการปวดหัวเริ่มกระทบกับการใช้ชีวิต
- ปวดหัวรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน และมีอาการอย่างเฉียบพลันทันใด โดยเฉพาะหากเกิดในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
- หมดสติ
ปวดหัวข้างขวา ป้องกันได้ไหม
การป้องกันอาการปวดหัวข้างขวา สามารถทำได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นอาการปวดที่ปกติเราจะรู้กันอยู่บ้างว่าอาการปวดหัวจะกำเริบเมื่อเจอกับอะไร
- กินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นกินอาหารเพื่อสุขภาพ มีโภชนาการครบ 5 หมู่
- หางานอดิเรก หรือทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ความกังวลใจได้ดี
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างมีคุณภาพ
- หากมีโรคประจำตัวควรรักษาและดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด
- หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี
อาการปวดหัวข้างขวา หากเป็นบ่อยก็อย่าปล่อยให้ตัวเองชินกับอาการนะคะ เพราะเดี๋ยวนี้โรคภัยไม่เข้าใครออกใครจริง ๆ ดังนั้นถ้าเราหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้การตรวจรักษาได้ ซึ่งบางโรคเป็นแล้วรู้เร็ว โอกาสรักษาให้หายก็มีสูงตามไปด้วย
บทความที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดหัว
- ปวดหัวข้างซ้าย เช็กอาการให้ไว เสี่ยงป่วยโรคอะไรบ้าง
- ปวดหัวก่อนเป็นประจำเดือน วิงเวียน คลื่นไส้ มีวิธีลดอาการปวดหัวประจำเดือนแบบไหนบ้าง
- ปวดหัวบ่อย เกิดจากอะไร ส่งสัญญาณอันตรายอะไรหรือเปล่า ?
- นอนกัดฟันกรอด ๆ ตื่นมาแล้วปวดหัวตลอดเพราะแบบนี้หรือเปล่า ?
- ไมเกรน ปวดหัวเรื้อรังต้องระวัง ยังเสี่ยงเกิดโรคแบบนี้ด้วย
- อาการปวดหัว 14 ชนิด รักษาแบบนี้สิถึงตรงจุด
- ปวดหัวแบบไหนผิดปกติ เช็กสักนิดแล้วรีบไปหาหมอ
- ก้มหน้าแล้วปวดหัว เวียนหัวเวลาหัน รู้ให้ทัน อาการนี้อาจไม่ปกติ
- นอนตอนเย็นแล้วปวดหัว เป็นเพราะอะไรกันนะ ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ศรีพัฒน์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, verywellhealth.com, healthline.com, medicalnewstoday.com