Plant based protein หรือโปรตีนจากพืช คือ อาหารที่มีโปรตีนจากพืชผัก ผลไม้ รวมไปถึงเห็ดและธัญพืชชนิดต่าง ๆ เป็นหลัก โดยวิถีของ Plant based มีจุดประสงค์เพื่อลดการกินเนื้อสัตว์ และยังเป็นเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่ช่วยลดโลกร้อน ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
นอกจากนี้ Plant based protein ยังเป็นอาหารทางเลือกของคนในหลาย ๆ กลุ่ม เช่น ผู้ที่กินมังสวิรัติ กินเจ หรือผู้สูงอายุที่เคี้ยวเนื้อสัตว์ลำบาก กินเข้าไปแล้วย่อยยาก ก็มารับโปรตีนจากพืชทดแทนได้
อย่างที่บอกว่าวิถีของคนที่เลือกกิน Plant based จะเน้นการกินผักเป็นส่วนใหญ่ คือ “ลด” การกินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ถึงกับ “งด” หรือเลิกกินเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ต่าง ๆ เช่น นม เนย ไข่ ชีส เป็นต้น
แต่ในส่วนของวิถีวีแกน (Vegan) จะงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ คือไม่กินเนื้อสัตว์เลย และไม่กินอาหารใด ๆ ที่มาจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไข่ นม เนย ชีส เจลาติน นอกจากนี้ข้าวของเครื่องใช้ที่ทำมาจากสัตว์ เช่น กระเป๋า รองเท้า ผ้าห่ม หมอนขนเป็ด ใด ๆ เหล่านี้วีแกนจะไม่ใช้ด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ วีแกนจะค่อนข้างเคร่งในเรื่องการกิน การใช้เนื้อสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าวิถีของ Plant based นั่นเอง
การเน้นกินโปรตีนจากพืช หรืออาหาร Plant based มีประโยชน์กับเราดังนี้
• อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น โปรตีน แร่ธาตุ วิตามิน และกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด รวมไปถึงไฟเบอร์และสารต้านอนุมูลอิสระ
• ย่อยง่าย ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย เพราะอาหารในกลุ่ม Plant based มักจะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ชนิดต่าง ๆ
• ผิวพรรณดี เพราะวิตามินต่าง ๆ รวมไปถึงสารต้านอนุมูลอิสระ จะช่วยดูแลเซลล์ผิวให้มีสุขภาพดีขึ้นได้
• ช่วยลดน้ำหนัก เพราะอาหารในกลุ่ม Plant based ส่วนใหญ่จะมีไขมันและแคลอรีต่ำกว่าเนื้อสัตว์
• ลดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า โปรตีนจากเนื้อแดง โดยเฉพาะเนื้อแดงที่ผ่านการแปรรูป มีส่วนเพิ่มโอกาสเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้การรับประทานเนื้อแดงยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานถึงร้อยละ 32 เลยทีเดียว
• ช่วยลดโลกร้อน เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารจากพืชใช้ทรัพยากรน้อยกว่าอุตสาหกรรมอาหารจากเนื้อสัตว์ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าด้วย
• ได้บุญกุศลจากการละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตสัตว์ต่าง ๆ
แม้การรับประทานโปรตีนจากพืชจะมีประโยชน์ดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ก็มีข้อควรระวังตามนี้ด้วย
- หากกินแต่พืชเพียงอย่างเดียวอาจเสี่ยงจะขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม หรือวิตามินบี 12 ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ นม ไข่ เป็นส่วนใหญ่ แต่ในผักมีน้อยมาก รวมไปถึงอาจไม่ได้รับกรดอะมิโนที่จะได้จากการย่อยโปรตีนของเนื้อสัตว์ด้วย
- การเน้นกินแต่พืชผักมากจนเกินไปอาจทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายรวนได้ เช่น มีอาการท้องอืด อึดอัด หรือท้องเสีย เป็นต้น
- แม้จะมีไขมันและแคลอรีต่ำกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ แต่หากรับประทานมากเกินไปก็ให้พลังงานสูงเกินความต้องการได้เช่นกัน จึงต้องจำกัดปริมาณให้พอเหมาะ
- ระวังการกินอาหาร Plant based สำเร็จรูป ที่อาจมีปริมาณโซเดียม หรือมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพบางคนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต เป็นต้น
นอกจากนี้ก่อนกินผักควรล้างทำความสะอาดผักให้ดี เพื่อกำจัดสารปนเปื้อนที่มากับผักสด หรือหากเป็นไปได้ หาซื้อผักออร์แกนิก หรือกินโปรตีนพืชที่มาจากธรรมชาติ เช่น พืชที่มีโปรตีนสูงก็ได้ค่ะ
1. เต้าหู้ นมถั่วเหลือง
เต้าหู้และนมถั่วเหลืองทำมาจากถั่วเหลืองด้วยกันทั้งคู่ และถั่วเหลืองก็เป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน แถมยังมีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายมากถึง 10 ชนิด นอกจากนี้ในเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ และนมถั่วเหลือง ยังมีไอโซฟลาโวน ที่เปรียบเป็นเอสโตรเจนจากธรรมชาติ ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ชะลอความแก่ และลดอาการวัยทองได้
2. ถั่ว
ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วลันเตา พืชตระกูลถั่วเหล่านี้ล้วนให้โปรตีนสูงด้วยกันทั้งสิ้น และยังอุดมไปด้วยสรรพคุณที่หลากหลาย โดยมีการศึกษาพบว่า การกินพืชตระกูลถั่วมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย ช่วยปรับสมดุลระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต และยังช่วยลดไขมันหน้าท้องได้อีกด้วย
3. ถั่วเปลือกแข็ง
เช่น อัลมอนด์ พิสตาชิโอ วอลนัท รวมไปถึงนมถั่วที่สกัดมาจากถั่วเหล่านี้ ก็จัดเป็น Plant based protein ที่ดีและเป็นที่นิยมในวงกว้าง เนื่องจากรับประทานง่าย มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งกินเล่นเป็นเม็ด ๆ หรือกินในรูปของเนยถั่ว นมถั่ว เป็นต้น
4. ถั่วชิกพี หรือถั่วลูกไก่
ถั่วชิกพี หรือบางคนอาจรู้จักในนามถั่วลูกไก่ มีโปรตีนสูงพอตัว โดยในปริมาณ 1 ถ้วยตวง (170 กรัม) ก็ให้โปรตีนมาราว ๆ 15 กรัม กินเล่น ๆ แป๊บเดียวก็หมดถ้วย อิ่มสบายท้อง แถมยังได้คาร์บดี ธาตุเหล็ก โฟเลต ฟอสฟอรัส แมงกานีส และสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกเพียบ
5. ควินัว
ถ้าพูดถึง Plant based protein ควินัวก็ป๊อปปูล่าร์ไม่เบา โดยนิยมนำมาหุงกินแทนข้าวปกติ หรือใส่ในสลัด ใส่ในซุปต่าง ๆ กินง่าย ๆ แต่เน้นหนักสารอาหารที่มีประโยชน์มากมาย เช่น แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก ไฟเบอร์ แมงกานีส เป็นต้น
6. เมล็ดเจีย
นอกจากเมล็ดเจียจะมีโปรตีนสูงแล้ว ธัญพืชชนิดนี้ยังเจ๋งตรงที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีส่วนบำรุงสมอง บำรุงสายตา ลดไขมันเลว เพิ่มไขมันดีในร่างกาย และเมล็ดเจียก็รับประทานง่าย ใส่ได้ทั้งในโยเกิร์ต สมูทตี้ พุดดิ้ง เบเกอรี่ และขนมหวานต่าง ๆ
7. มันฝรั่ง
เห็นเป็นพืชหัวที่อัดแน่นไปด้วยคาร์บชนิดดีอย่างนี้ แต่จริง ๆ แล้วมันฝรั่งก็เป็น Plant based protein ที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะมีโปรตีนจากพืชแล้ว มันฝรั่งยังเป็นแหล่งของโพแทสเซียมและวิตามินซีอีกด้วยนะ
8. เห็ด
9. Plant based meat เนื้อจากพืช
10. Seitan หรือเนื้อผัก
11. Mycoprotein
12. ผักใบเขียว
โดยเฉพาะปวยเล้ง บรอกโคลี ซึ่งเป็นผักที่มีปริมาณโปรตีนอยู่พอสมควร และจัดเป็นโปรตีนจากพืชแบบออร์แกนิก อีกทั้งด้วยความเป็นผักก็จัดเต็มไฟเบอร์ วิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ มาให้ แถมยังหากินง่ายตามเมนูอาหารไทยทั่วไป
บทความที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่มีโปรตีน
- 10 ผักที่มีโปรตีนสูง มาพร้อมไฟเบอร์และวิตามิน เลือกกินอะไรดี
- 9 ผลไม้โปรตีนสูง กินเจทั้งทีสารอาหารนี้อย่าได้ขาด
- 4 สรรพคุณของเห็ดโคน ประโยชน์โดนใจ อร่อยได้ปีละครั้ง
- 15 เมนูอาหารเน้นโปรตีน แคลอรีต่ำเพิ่มหุ่นฟิตทั้งคาวหวานและเครื่องดื่ม
- 10 อาหารโปรตีนสูงที่ควรกินช่วงลดน้ำหนัก คุณค่าระดับท็อปของคนอยากผอม
- กินเจทั้งที โปรตีนเหล่านี้ไม่ควรพลาด