สัญญาณบอกอาการ 15 โรคฮิต เช็กดูสักนิด ก่อนจิตตก !

          ปวดหัว ปวดท้อง ปวดหลัง เหนื่อย หอบ ไข้สูง ผื่นขึ้น ผมร่วง เบื่ออาหาร...อาการป่วยพื้นฐานที่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเป็น


ตรวจสุขภาพ

          หากใครมีอาการแบบนี้ไม่นาน กินยาแป๊บ ๆ แล้วหาย ก็คงไม่น่าวิตกอะไร แต่ถ้าป่วยด้วยอาการซ้ำ ๆ เดิม ๆ กินยาหลายวันแล้วก็ยังไม่หาย แถมยังทำท่าจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ก็อดกังวลไม่ได้แล้วว่าขณะนี้มีโรคร้ายอะไรมาเคาะประตูเรียกเราอยู่หรือไม่นะ ชักจะจิตตกซะแล้วสิ !

          โดยเฉพาะ 15 โรคต่อไปนี้ ที่พบผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา บางโรคถึงไม่ได้รุนแรงถึงชีวิต แต่ก็สร้างความทรมานให้คนป่วยได้มาก เช่น กรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร โรคไมเกรน ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายโรครุนแรงที่ส่งสัญญาณอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ออกมาเตือนเราได้รู้เหมือนกัน เช่นเหล่าโรคมะเร็งที่แสนน่าขยาดทั้งหลาย กระปุกดอทคอม จึงขอรวบรวมอาการของ 15 โรคที่คนอยากรู้กันมาก มาบอกให้ฟังกันดัง ๆ ก่อนจะคิดมากกันไปใหญ่ เพราะบางทีสิ่งที่คุณเป็นอาจไม่ใช่อาการของโรคเหล่านี้ก็ได้ 

มะเร็งปากมดลูก

อาการมะเร็งปากมดลูก

          โรคร้ายที่คร่าชีวิตหญิงสาวทั่วโลกเป็นจำนวนมาก อย่าง "มะเร็งปากมดลูก" นี้ หากตรวจพบเร็ว รักษาเร็ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งคุณผู้หญิงทั้งหลายต้องจดจำอาการของมะเร็งปากมดลูกไว้บ้าง จะได้สังเกตตัวเอง อย่างไรก็ตาม อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจะมากหรือน้อยขึ้นกับระยะของมะเร็ง

          โดยในระยะแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ต่อมาอาจมีอาการตกเลือดทางช่องคลอด ซึ่งพบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 80–90 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก เลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น ตกขาวมีลักษณะคล้ายน้ำคาวปลา มีเลือดปน หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน ปวดท้องน้อย หรือปวดบริเวณก้นกบร้าวลงขา ซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

          ถ้าเป็นมากและมะเร็งลุกลามออกไปด้านข้าง หรือลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรานก็จะมีอาการปวดหลังได้ เพราะไปกดทับเส้นประสาท อาจถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือมีอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายอุจจาระได้ ในกรณีที่เป็นมาก เมื่อมะเร็งลุกลามไปสู่อวัยวะอื่น ๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -มะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งร้ายที่น่ากลัว 

          -อาการมะเร็งปากมดลูกระยะต่าง ๆ รู้ให้กระจ่างก่อนจะสาย

          -15 เรื่องวัคซีน HPV ที่สาว ๆ ต้องรู้ ก่อนฉีดป้องกันมะเร็งปากมดลูก

          -10 อาการเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก เช็กก่อน รู้ก่อน !

          -ใส่ผ้าอนามัยนาน ๆ เสี่ยงมะเร็งปากมดลูกจริงหรือ ? เรื่องนี้ผู้หญิงต้องรู้


ไข้เลือดออก

อาการไข้เลือดออก

          ไข้เลือดออก เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้ตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน และหน้าหนาว ที่ยุงลายเพาะพันธุ์ได้ง่าย ทำให้คนไทยป่วยเป็นไข้เลือดออกกันมาก และมีผู้เสียชีวิตปีละหลายราย

          สำหรับอาการของไข้เลือดออกนั้นไม่จำเพาะ อาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น แต่ผู้ใหญ่ที่เป็นไข้เลือดออก อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดว่าเป็นโรคไข้เลือดออก อาจจะทำให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต ทั้งนี้ลักษณะที่สำคัญของไข้เลือดออก มีอาการสำคัญ 4 ประการคือ

           1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40 มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน

           2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว

           3. ตับโต

           4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก : มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายมือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ  

          -ยุงกัดเพราะอะไร ระวังไว้ ก่อนป่วยไข้เลือดออก! 

          -ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับยุง และวิธีลดอาการบวม เมื่อถูกยุงกัด 


โรคหัวใจ

อาการโรคหัวใจ

          เชื่อไหมว่า โรคหัวใจ คือโรคร้ายติด 1 ใน 5 ที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุดในแต่ละปี โดยจากการสำรวจข้อมูลล่าสุดในปี 2554 พบว่า คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 ราย โดยพบเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากที่สุด แบบนี้ต้องมารู้จักอาการโรคหัวใจ เพื่อเตือนภัยตัวเองดัง ๆ หน่อยแล้ว

          โดยหากเป็นโรคหัวใจระยะแรกเริ่ม จะมีอาการบ่งชี้ดังนี้

          - เหนื่อยผิดปกติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

          - เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอกเวลาที่หัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ออกกำลังกาย หรือใช้แรงมาก ๆ

          - ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจไม่ทัน

          - เป็นลมหมดสติง่าย มักจะเกิดในท่ายืนมากกว่านั่ง  เพราะหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ

          - ขาหรือเท้าบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อกดดูแล้วมีรอยบุ๋มตามนิ้วที่กดลงไป

          - ปลายมือ ปลายเท้า และริมฝีปากมีลักษณะเขียวคล้ำ

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -โรคหัวใจ ทำไมร้ายจัง 

          -ป้องกันและลดความเสี่ยงจาก โรคหัวใจ ด้วยสมุนไพร 

          -รู้จักและรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว 


มะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการโรคกระเพาะอาหาร

          ยอมรับเลยว่าอาการปวดท้องเป็นอาการที่วินิจฉัยโรคได้ยากเอามาก ๆ เพราะปวดท้องทีก็บ่งชี้ได้ตั้งหลายโรค แล้วถ้าเป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือชื่อจริง ๆ ว่า แผลในกระเพาะอาหาร ล่ะ จะมีอาการเด่น ๆ อย่างไรบ้างนะ

          สำหรับโรคแผลในกระเพาะอาหารจะมีอาการชัด ๆ คือ มักปวดหรือจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่หรือช่องท้องช่วงบน โดยเฉพาะในช่วงท้องว่าง หรือหิว แต่จะไม่เป็นตลอดวัน บางคนทานอาหารเข้าไปแล้วยิ่งปวดมากขึ้น โดยเฉพาะเวลาทานอาหารรสเผ็ดหรือเปรี้ยวที่จะไปกัดกระเพาะมากขึ้นนั่นเอง ต้องทานยาลดกรดจึงจะรู้สึกดีขึ้น

          อย่างไรก็ตาม อาการปวดโรคกระเพาะนี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ อาจหายไปนานหลายเดือนก็กลับมาปวดใหม่ได้อีกครั้ง ขณะที่บางคนปวดแน่นท้องกลางดึก ต้องลุกขึ้นมาจากที่นอน แต่หลายรายกลับไม่มีอาการปวดท้อง มีแค่แน่นท้อง มักเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้อง รอบสะดือ

          อาการเด่นชัดอีกอย่างคือ มักมีอาการท้องอืดร่วมด้วย มีลมมากในท้อง ต้องเรอหรือผายลมจึงจะดีขึ้น อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยโดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อหรือช่วงเช้ามืด นอกจากนี้ คนเป็นโรคกระเพาะอาจอิ่มอาหารง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อย และน้ำหนักลดลงได้บ้าง

ข้อมูลเพิ่มเติม




วัดความดัน

อาการความดันโลหิตสูง

          ปกติแล้วผู้ป่วย โรคความดันโลหิตสูง มักไม่ปรากฎอาการใด ๆ ให้ทราบ อาจพบอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หรือนอนไม่หลับ สูญเสียความจำ สับสน มึนงง ซึ่งล้วนเป็นอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นจึงทำให้คนไม่เอะใจ จึงไม่ได้รับการรักษา และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับเหมาะสม ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

ข้อมูลเพิ่มเติม



กรดไหลย้อน

อาการกรดไหลย้อน

          ใครที่ชอบทานอาหารดึก ๆ แล้วนอนทันที คงจะรู้จักกับ "โรคกรดไหลย้อน" เป็นอย่างดีแน่นอน เพราะโรคนี้สร้างความทรมานให้ผู้ป่วยไม่น้อยเลยล่ะ โดยอาการของโรคกรดไหลย้อนจะแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ

           1. อาการที่เกิดในหลอดอาหาร จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ แสบลิ้นเรื้อรัง จุกแน่นแถว ๆ หน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย อาการนี้มักจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารมื้อหลัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย

          ที่สำคัญคือ จะมีอาการแสบหน้าอก เรอเปรี้ยว รู้สึกเหมือนมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ภาวะดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ ถ้าเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง อาจทำให้หลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุอาหารได้

           2. อาการนอกหลอดอาหาร จะมีเสียงแหบเรื้อรัง มักมีเสียงแหบตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน หรือในบางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้ ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังถูกโรคกรดไหลย้อนคุกคาม

          ถามว่าโรคกรดไหลย้อนอันตรายไหม คำตอบคือ ถ้าเป็นกรดไหลย้อนแล้วรีบรักษา หรือทำให้อาการกรดไหลย้อนหายไปก็จะไม่มีอาการอย่างไร แต่หากปล่อยอาการไว้เนิ่นนาน อาจทำให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบ เป็นแผลรุนแรงจนตีบ หรือเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารได้ แต่... ความรุนแรงนี้จะมีได้เพียง 1% เท่านั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -โรคกรดไหลย้อน – โรคกระเพาะ ความเหมือนที่แตกต่าง 

          -โรคกรดไหลย้อนห้ามกินอะไร ไม่อยากลำบากกายต้องเลี่ยง !

          -บอกลาโรคกรดไหลย้อน ด้วย 7 พฤติกรรมเปลี่ยนชีวิต


ปวดหัวไมเกรน

อาการไมเกรน

          โอ๊ย ! ปวดหัวจริง ๆ อยู่ดี ๆ ก็ปวดหัวตุบ ๆ ที่ขมับข้างเดียว แถมยังปวดนานเสียด้วย แบบนี้จะเป็น "ไมเกรน" หรือเปล่านะ ลองมาสำรวจอาการของโรคไมเกรนกันก่อนเลย

          อาการที่โดดเด่นของโรคไมเกรนก็คือ มีอาการปวดตุบ ๆ (ตามจังหวะชีพจร) ที่ขมับข้างเดียว (พบได้ร้อยละ 70-80) หรือ 2 ข้าง (พบได้ร้อยละ 20-30) แต่ละครั้งจะปวดติดต่อกันนาน 4-72 ชั่วโมง (ในกรณีที่ปวดข้ามคืน ช่วงนอนหลับจะทุเลาชั่วคราว พอตื่นนอนก็จะปวดต่อ) แม้ไม่ได้กินยา เมื่อปวดถึงจังหวะหนึ่งก็จะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง แต่ถ้ารีบกินยาแก้ปวดเมื่อเริ่มมีอาการกำเริบ ก็จะช่วยให้ทุเลาได้เร็ว

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้ร่วมกับปวดศีรษะ และมักจะปวดแรงขึ้นเมื่อสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น ได้ยินเสียงดัง เห็นแสงจ้า ฝืนทำงาน เคลื่อนไหวร่างกาย หรือขึ้นลงบันได ผู้ป่วยมักจะหยุดพักและหลบเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว เช่น นั่งหรือนอนพักในห้องที่อากาศสบาย ๆ สลัว ๆ เงียบ ๆ ถ้าได้หลับสักตื่นอาการปวดมักจะทุเลา

          ขณะปวดเต็มที่ มักคลำได้หลอดเลือดที่ขมับข้างที่ปวดพองตัว บางครั้งหลังปวดเต็มที่แล้ว อาจมีอาการอาเจียน แล้วการปวดก็จะค่อยทุเลาไป

          บางราย ก่อนปวดอาจมีอาการเตือนก่อน คือ มีอาการทางสายตา (aura) เช่น ตาพร่า ตาลาย เห็นแสงสีรุ้ง เห็นดวงขาว ๆ หรือมองเห็นภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากปกติประมาณ 15-30 นาที นำร่องมาก่อน และจะหายไปเมื่อเริ่มเกิดอาการปวดศีรษะ

ข้อมูลเพิ่มเติม

          - ไมเกรน ปวดหัวเรื้อรังต้องระวัง ยังเสี่ยงเกิดโรคแบบนี้ด้วย
 
          - วิธีนวดรักษาไมเกรนด้วยตัวเอง แถมอาการปวดตา ตีนกา ก็หายด้วย ! 


ต่อมไทรอยด์

อาการไทรอยด์

          ต่อมไทรอยด์ แม้จะเป็นต่อมเล็ก ๆ แต่ก็เป็นหนึ่งในต่อมไร้ท่อที่สำคัญที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมการเมตาบอลึซึม อัตราการเต้นของหัวใจ และการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ซึ่งหลายคนมีอาการป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โดยเฉพาะอาการไทรอยด์ทำงานต่ำผิดปกติ  (Hypothyroidism) และอาการต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperthyroidism) ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ด้วยอาการต่อไปนี้

ไทรอยด์ทำงานต่ำผิดปกติ (Hypothyroidism)

          - รู้สึกหดหู่, สมาธิไม่ดี, เหนื่อยอ่อน

          - ผมร่วง (โดยเฉพาะหางคิ้ว), ผิวแห้ง

          - มีคอเลสเตอรอลสูง

          - น้ำหนักเพิ่ม, กล้ามเนื้ออ่อนแอ, เจ็บตามข้อ, บวมน้ำ (โดยเฉพาะที่มือและเท้า), เสียงแหบ, มีความรู้สึกไวต่อความเย็น

          - ท้องผูก

          - ความรู้สึกทางเพศต่ำ, รอบเดือนมามากผิดปกติ

ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ (Hyperthyroidism)

          - รู้สึกกังวล, ฉุนเฉียว, นอนไม่หลับ

          - เหงื่อออกมากขึ้น

          - หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ

          - น้ำหนักตัวลด, ตาโปน, ระคายเคืองนัยน์ตา, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มือ และนิ้วสั่น

          - ท้องเสีย, รู้สึกหิวบ่อยขึ้น

          -  มักจะมีรอบเดือนมาน้อย

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -เรื่องน่ารู้ของ ต่อมพาราไทรอยด์ 

          -โรคไทรอยด์-ไทรอยด์เป็นพิษ ห้ามกินอะไร เลี่ยงไว้เพื่อความปลอดภัย

          -ป่วยไทรอยด์ลดน้ำหนักยังไงดี 7 วิธีนี้สิช่วยให้ผอมอย่างปลอดภัย
 
          -19 สัญญาณอาการไทรอยด์ นอนไม่หลับบ่อย เพลียตลอดเวลา หรือว่าป่วย ?
 
          -มะเร็งต่อมไทรอยด์ พบตั้งแต่ก้อนยังน้อย โอกาสหายก็มาก เช็กอาการก่อนเป็นหนัก !
 

ปวดไส้ติ่ง

 อาการไส้ติ่ง

          เวลาปวดท้องแปล๊บ ๆ ตรงบริเวณต่ำกว่าสะดือทีไร หลายคนมักจะใจคอไม่ดี เพราะกลัวว่าจะเป็น "ไส้ติ่งอักเสบ" อย่างที่รู้กันว่าการเป็นไส้ติ่งอักเสบนั้นอันตรายน่าดู เพราะหากผ่าตัดรักษาไม่ทันก็มีโอกาสเสี่ยงที่ไส้ติ่งจะแตกจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ถ้าใครปวดหัวแล้วก็อย่าเพิ่งจิตตกไป บางทีคุณอาจจะไม่ได้เป็นไส้ติ่งอักเสบก็ได้นะ เพราะคนที่เป็นไส้ติ่งอักเสบ จะมีสัญญาณบอกดังนี้

          อาการปวดของไส้ติ่งแบบมาตรฐาน จะเริ่มปวดทั่ว ๆ บอกตำแหน่งแน่นอนไม่ได้ มักเป็นรอบ ๆ สะดือ อาจเป็นพัก ๆ หรือตลอดเวลาก็ได้ แต่โดยทั่วไปมักเป็นแบบตลอดเวลา หลังจากนั้นประมาณ 6-10 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา ต่ำกว่าสะดือ ปวดตลอดเวลา อาจมีไข้ขึ้น มีเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย

          อาการปวดแบบมาตรฐาน (classical symptom) จะพบประมาณ 25% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออาจไม่เป็นแบบนี้ เช่น อาจไม่มีย้ายจุดปวด อาจปวดเป็นพัก ๆ ได้ (กรณีระยะแรก หรือเป็นชนิดที่อยู่หน้าหรือหลังลำไส้เล็ก pre-ileal or post-ileal type) แต่ประเด็นสำคัญคือปวดด้านขวาล่าง ๆ กดเจ็บ เดินตัวงอ มีเบื่ออาหาร มักปวดตลอดเวลา

          อาการเบื่ออาหารเป็นอาการที่สำคัญมาก พบเกือบ 100% ฉะนั้น ถ้าปวดท้องแต่ไม่เบื่ออาหาร กินข้าวได้ดี โอกาสเป็นไส้ติ่งอักเสบแทบจะไม่มี ถ้าไส้ติ่งแตก ไข้จะสูงลอย 40 องศา ปวดทั่วท้องทั้งซ้ายและขวา ท้องจะแข็งเกร็งไปหมด เดินไม่ไหว ต้องนอนนิ่งๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -สัญญาณบอกอาการไส้ติ่งอักเสบ 


ปวดฉี่บ่อย

อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

          เวลานั่งรถเดินทางไกลทีไรเป็นต้องปวดปัสสาวะทุกทีสิน่า แต่รถติด ๆ แบบนี้จะไปหาห้องน้ำที่ไหนเข้า สุดท้ายก็เลยต้องอั้นปัสสาวะไว้ รู้ตัวอีกทีก็ทำท่าจะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเสียแล้ว ใครที่ชอบอั้นปัสสาวะบ่อย ๆ โดยเฉพาะคุณสาว ๆ ต้องรีบสำรวจตัวเองโดยด่วนว่าคุณเข้าข่ายโรคนี้หรือยัง

          สำหรับผู้ที่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบนั้นจะมีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปวดปัสสาวะบ่อย แต่รู้สึกปัสสาวะออกไม่สุด มักปวดขัด หรือแสบร้อนเวลาปัสสาวะ บางคนอาจปวดท้องน้อยเวลาปัสสาวะด้วย หากสังเกต ปัสสาวะจะมีกลิ่นเหม็น สีใส แต่ปัสสาวะบางคนก็อาจขุ่น หรือมีเลือดปนด้วย ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะนาน ๆ หรือหลังร่วมเพศ ในเด็กเล็กอาจเป็นไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียนร่วมด้วย

          อย่างไรก็ตาม โรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามทำให้กลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบ หรือไตวายได้ หากผู้ป่วยเป็นผู้ชายและมีอาการรุนแรง เชื้อก็อาจลามเข้าไปทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบได้

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคฮิตสาวเวิร์กกิ้ง 


ไข้หวัดใหญ่

อาการเบาหวาน

          ภัยเงียบเรื้อรังที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โรคเบาหวาน เกิดจากตับอ่อนสร้าง "ฮอร์โมนอินซูลิน" (Insulin) ได้น้อย หรือไม่ได้เลย เมื่ออินซูลินในร่างกายไม่พอ น้ำตาลก็ไม่ถูกนำไปใช้ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลือดและอวัยวะต่าง ๆ เมื่อน้ำตาลคั่งในเลือดมาก ๆ ก็จะถูกไตกรองออกมาในปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะหวานหรือมีมดขึ้นได้ จึงเรียกว่า "เบาหวาน" ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด และมีโอกาสถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ อาการที่พบบ่อยคือ

          - ปัสสาวะบ่อย ออกครั้งละมาก ๆ บางคนอาจสังเกตว่าปัสสาวะมีมดขึ้น

          - รู้สึกกระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย หิวบ่อย หรือกินข้าวจุ อ่อนเพลีย 

          - หากเป็นเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน อาการต่างๆ มักเกิดขึ้นรวดเร็วร่วมกับน้ำหนักตัวที่ลดลงฮวบฮาบ ในช่วงระยะเวลาเพียงสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน 

          - สำหรับคนที่เป็นเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน อาการมักค่อยเป็นค่อยไป แบบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีรูปร่างอ้วน 

          - มีอาการคันตามตัว เป็นฝีบ่อย หรือเป็นแผลเรื้อรังรักษาหายยาก

          - มีอาการแทรกซ้อน เช่น ตามัว มีอาการชาหรือปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า ไตเสื่อม ติดเชื้อได้ง่าย

ข้อมูลเพิ่มเติม

          - อาการโรคเบาหวาน 10 สัญญาณควรระวัง เช็กได้ง่ายนิดเดียว
 
          - ผลไม้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เลือกหรือเลี่ยง กินได้มาก-น้อยแค่ไหน ต้องรู้ !
 
          - คนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไร ไม่อยากเสี่ยงตายต้องเลี่ยง ! 


มะเร็งตับ

อาการมะเร็งตับ

          เมื่อหลายปีก่อน "โรคมะเร็งตับ" เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนไทย โดยเฉพาะในเพศชาย มาจนถึงวันนี้ สถิติผู้ป่วย "โรคมะเร็งตับ" ก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้น นั่นเพราะนี่เป็นโรคร้ายที่ไม่ได้แสดงอาการให้เห็นเด่นชัดออกมา กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตับก็เข้าขั้นระยะลุกลามแล้ว และที่น่ากลัวก็คือผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับขั้นรุนแรงแล้วมักจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

          อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคมะเร็งตับ ที่เห็นชัด ๆ ก็คือ จะรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกเสียด แน่นท้อง น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว และมีอาการปวดชายโครงด้านขวา โดยอาจร้าวไปที่ไหล่ด้านขวาหรือลำตัวซีกขวา และอาจคลำพบก้อนที่ชายโครงด้วย ซึ่งหากใครมีอาการลักษณะนี้ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -มะเร็งตับ โรคเงียบ ที่อาจคุกคามชีวิตคุณ 

          -เจาะลึกข้อมูล ไวรัสตับอักเสบบี 

          -10 สัญญาณเช็กอาการไขมันพอกตับ พร้อมเคล็ดลับป้องกันไขมันเกาะตับ
 
          -10 สัญญาณเตือนโรคมะเร็งตับ เช็กสุขภาพให้รู้ก่อนสายเกินแก้
 
          -โรคตับ 15 อาการชี้ชัด บ่งบอกว่าตับไม่สบายอยู่
 
          -อาการของโรคตับ สังเกตอย่างไรว่าเป็นโรคตับแข็ง
 

มะเร็งปอด

อาการมะเร็งปอด

          มะเร็งปอด ใช่ว่าเกิดจากการสูบบุหรี่ หรือรับเอาควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ แม้คุณไม่ได้สูบบุหรี่ เช่น การสูดดมเอาแร่ใยหิน ก๊าซเรดอน เข้าปอด หรือไอระเหยของน้ำมัน เขม่าควันของรถราที่วิ่งอยู่ตามท้องถนน หากสูดดมมาก ๆ เข้า ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสาเหตุส่วนใหญ่กว่า 85% ล้วนเกิดจากควันบุหรี่

          มะเร็งปอดก็เหมือนมะเร็งชนิดอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยแสดงอาการจนกว่าโรคจะลุกลามไปมากแล้ว มีผู้ป่วยประมาณ 10-15% เท่านั้นที่ตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมีโอกาสที่จะหายขาดสูง ซึ่งอาการและอาการแสดงต่าง ๆ ของมะเร็งปอดมีดังต่อไปนี้คือ

          - ไอเป็นเวลานาน ไม่ทุเลาเหมือนการไอปกติ แต่กลับเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ

          - หายใจเหนื่อยหอบ หายใจสั้น เสียงแหบ

          - อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

          - ไอ หรือมีเสมหะ ปนเลือด

          - เจ็บหน้าอก  หัวไหล่ หลัง และแขนเป็นประจำ (อาจเป็นเพราะก้อนเนื้อเบียดกดอยู่)

          - เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

          - มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือแขน

          - โรคปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบบ่อย

          อาการดังกล่าวที่ได้กล่าวมาแล้ว มิใช่อาการของมะเร็งปอดระยะแรก เพราะมะเร็งปอดระยะแรกจริง ๆ มักไม่มีอาการ แพทย์จะตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจเอกซเรย์ปอด จากการตรวจร่างกายประจำปี

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -มะเร็งปอด โรคมะเร็งตัวร้าย ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้ 

โรคไต


อาการโรคไต

          คนที่เพลิดเพลินกับการกินเค็มต้องระวังให้มาก เพราะอีกไม่นาน "โรคไต" อาจเลือกคุณเป็นเหยื่อรายต่อไปก็ได้ รวมทั้งผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน ก็เป็นสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคไตตามมาได้เช่นกัน ใครที่เข้าข่ายต้องสงสัย รีบเช็กอาการเบื้องต้นของโรคไตกันเลย

มีอาการบวมทั้งตัว

          ระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตา และหน้า ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง ถ้าบวมไม่มากอาจสังเกตไม่เห็น แต่ทดสอบได้ด้วยการลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย หากพบว่ามีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่าบวมแน่น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรค

เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด
 
          อาการเหล่านี้จะแสดงออกมาเมื่อไตเริ่มป่วยมากขึ้นแล้ว และยิ่งถ้าใกล้เป็นไตวายเรื้อรังจะเพิ่มอาการซีด คันตามตัว เบื่ออาหาร

ปวดหลัง ปวดบั้นเอว

          บางคนปวดไปถึงบั้นเอวที่บริเวณชายโครง ร้าวไปถึงท้องน้อย หัวหน่าว และที่อวัยวะเพศ บางคนก็ถึงขั้นปวดกระดูกและข้อ ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการอุดตันที่ท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือในท่อไตมีถุงน้ำโป่งพองก็ได้ แต่อาการปวดหลังก็สามารถวินิจฉัยได้หลายโรคเช่นกัน จึงต้องตรวจสอบอาการอื่นควบคู่ ๆ ไปด้วย

          ทั้งนี้ หากเรากดหลัง และทุบเบา ๆ แล้วมีอาการเจ็บ อาจแสดงว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือไตอักเสบ ถ้ามีไข้สูงร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของกรวยไตอักเสบติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน

ปัสสาวะผิดปกติ

          - ปัสสาวะเป็นเลือด อาจมีหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการนี้ ทั้งนิ่ว เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อุบัติเหตุกับทางเดินปัสสาวะ หรือเส้นเลือดฝอยของไตอักเสบ แม้แต่มะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคไตเป็นถุงน้ำ ฯลฯ

          - ปัสสาวะน้อยลง โดยปกติแล้วหากเราดื่มน้ำมาก ปัสสาวะก็ควรจะมากไปด้วย แต่หากใครปัสสาวะไม่ออกเลย อาจเป็นเพราะทางเดินปัสสาวะถูกอุดกั้น หรือการทำงานของไตเสียไป ลองทดสอบง่าย ๆ ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น แล้วสังเกตดูว่าปัสสาวะออกมากขึ้นหรือไม่ หากปัสสาวะยังน้อยอยู่ นั่นแสดงว่าไตเริ่มผิดปกติแล้ว

          - ปัสสาวะบ่อย ความถี่ในการปัสสาวะของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดื่มน้ำ หรือการที่ร่างกายเสียน้ำไปทางอื่น ๆ เช่น เหงื่อ หรืออุจจาระ แต่หากวันดีคืนดี รู้สึกว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยผิดปกติ หรือตื่นขึ้นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่า 3-4 ครั้ง อาจต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไตก็ได้ เพราะกระเพาะปัสสาวะจะสามารถเก็บน้ำได้ถึง 250 ซี.ซี. แต่ในคนที่เป็นโรคไต ไตจะไม่สามารถหยุดการขับน้ำในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีน้ำออกมามากและปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จึงมักจะตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางดึก

          - ปัสสาวะเป็นฟองมาก ฟองสีขาว ๆ ที่เราในปัสสาวะก็คือโปรตีนนั่นเอง ซึ่งก็มีกันทุกคน แต่หากใครมีฟองสีขาว ๆ มากผิดปกติ อาจสงสัยไว้ก่อนว่า เส้นเลือดฝอยในไตอาจอักเสบ ทำให้มีโปรตีนรั่วไหลออกมามากผิดปกติ แต่ถึงกระนั้นก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าเป็นโรคไต ต้องดูอาการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น หากปัสสาวะมีฟองมากแถมยังเป็นเลือด ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นโรคไตก็ได้ ให้รีบไปพบแพทย์ตรวจร่างกายโดยเร็ว


ความดันโลหิตสูงมาก ๆ

          การกินอาหารรสเค็ม ๆ มาก ๆ จะทำให้ไตทำงานหนัก และเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่ไม่เคยมีอาการอะไรมาก่อน แต่พอไปตรวจสุขภาพกลับเจอความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจอนุมานได้ว่า ไตของเรามีความผิดปกติขึ้นแล้ว ควรให้แพทย์ตรวจอย่างละเอียดเพื่อเช็กว่าเป็นโรคไตด้วยหรือไม่

ข้อมูลเพิ่มเติม

          -โรคไต ป่วยแล้วยุ่ง มาเช็กสัญญาณอาการโรคไตก่อนดีกว่า


อาหารเป็นพิษ

อาการอาหารเป็นพิษ

          คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาการปั่นป่วนในช่องท้องที่แสนทรมานแบบนี้ ชวนให้สงสัยจริง ๆ ว่า นี่เป็นอาการของ "อาหารเป็นพิษ" หรือไม่ หากใครรู้ตัวว่าทานอาหารที่ไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ หรืออาหารค้างคืนไปเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ลองมาตรวจสอบอาการของตัวเองกันดูว่านี่คือ "อาหารเป็นพิษ" ใช่หรือไม่

          สำหรับอาการอาหารเป็นพิษนั้น คนที่เป็นจะรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง อาเจียน จนกระทั่งอาจมีอาการปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามเนื้อตัวตามมา เกิดจากการทานอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนเข้าไป บางคนอาจเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัวด้วย แต่ถ้าใครท้องเสียหนัก ๆ ต้องรีบทานน้ำเกลือแร่โดยด่วน เพราะไม่เช่นนั้น อาการอาจจะรุนแรงจนทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นชัก หมดสติ หรือเสียชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ข้อมูลเพิ่มเติม

          - อาหารเป็นพิษ ความทรมานทางกาย เป็นแล้วกี่วันหาย กินอะไรได้บ้าง 

          อาการและโรคต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่ไม่มีใครอยากป่วย เพราะฉะนั้น หมั่นเรียนรู้อาการและตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ ๆ เมื่อมีสัญญาณบางอย่างที่ต้องสงสัย แล้วไปพบแพทย์ตรวจเพื่อความชัวร์ หากป่วยขึ้นมาจะได้รีบรักษาได้ทันท่วงทีไงนะค


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สัญญาณบอกอาการ 15 โรคฮิต เช็กดูสักนิด ก่อนจิตตก ! อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2562 เวลา 14:32:46 266,280 อ่าน
TOP
x close